คอลัมน์ วงล้อเศรษฐกิจ

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและเมียนมาที่มีความแนบแน่นขึ้นเป็นลำดับตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สะท้อนได้จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งในมิติด้านการค้าและการลงทุน

แต่ด้วยบริบทการค้าการลงทุนของโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศที่มีความไม่แน่นอนสูง ประกอบกับมีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้ามากขึ้น

ปัจจัยดังกล่าวทำให้ไทยและเมียนมาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่ง “ยกระดับ” ความร่วมมือทางเศรษฐกิจจากการเป็นเพียง “ผู้ซื้อและผู้ขาย” ที่ต่างฝ่ายต่างมองประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง

สู่การเป็น “หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ” ที่จะสร้างประโยชน์ทางการค้าการลงทุนร่วมกันในลักษณะ Win-Win Strategy ผ่านการเชื่อมโยงจุดแข็ง และปิดจุดอ่อน ซึ่งกันและกัน

ยิ่งไปกว่านั้น ไทยและเมียนมาถือเป็นจิกซอว์ชิ้นสำคัญในการเชื่อมโยงกลุ่มประเทศ CLMVT (ประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) เข้าด้วยกัน

เนื่องจากทั้งสองประเทศมีจุดแข็งทางภูมิศาสตร์ในการเป็นสะพานเชื่อมไปยังตลาดศักยภาพหลายแห่ง กล่าวคือ เมียนมาถือเป็น Super Highway ไปสู่ตลาดที่มีประชากรมากที่สุดในโลกอย่างจีนและอินเดีย

ขณะที่ไทยเองก็เป็นจุดเชื่อมของ 4 ตลาดที่มีเศรษฐกิจขยายตัวสูงที่สุดในโลกอย่างกลุ่มประเทศ CLMV ทำให้หากมีการสร้างความเชื่อมโยงภายใต้ยุทธศาสตร์ CLMVT อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นผ่านการพัฒนาเส้นทางตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridors) ต่างๆ

ล่าสุดประเทศไทยมีโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา เพื่อเชื่อมโยงกับ Economic Corridors เดิม โดยเฉพาะ Southern Economic Corridor และโครงการเส้นทางสายไหมเส้นใหม่ของจีน

ซึ่งจะช่วยขยายเครือข่ายตลาดการค้าการลงทุนและการแลกเปลี่ยนปัจจัยการผลิตระหว่างกัน อันจะช่วยยกระดับการผลิตจากเดิมที่ต่างคนต่างผลิตไปสู่การที่ทุกประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตของอนุภูมิภาคร่วมกัน

แนวทางข้างต้นถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองและหนุนให้การค้าการลงทุนภายในอนุภูมิภาค CLMVT แข็งแกร่งมากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน