คอลัมน์ วงล้อเศรษฐกิจ

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี

การฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ ทำให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเฟดจะสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีก 2 ครั้งในปีนี้ คืออยู่ที่ระดับ 1.25-1.50% ณ ปลายปีนี้ เท่ากับดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ 1.50% นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดยังคาดอีกว่าเฟดจะขึ้นได้ต่อเนื่องอีก 3 ครั้งในปีหน้า

ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยเฟดแพงกว่าดอกเบี้ยไทย หากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยตาม

ความแตกต่างของระดับดอกเบี้ยดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับการเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการมีความกังวล

โดยปกติแล้วประเทศที่มีความเสี่ยงสูงกว่าควรให้ผลตอบ แทนหรือดอกเบี้ยที่สูงกว่า ดังนั้น เมื่อระดับดอกเบี้ยของเฟดสูงกว่าของไทย จะทำให้เกิดกระแสเงินทุนไหลออกจากไทยไปยังประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ส่งผลให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าได้

นอกจากนี้ ในช่วงที่ดอกเบี้ยเฟดแพงกว่าดอกเบี้ยไทย ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย หรือ swap point จะกลายเป็นติดลบ ซึ่งผู้ประกอบการควรเตรียมรับมือ เนื่องจาก Swap point 6 เดือน ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ +0.05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยคาดว่าจะมีค่าอยู่ในช่วง 0.10-0.03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เมื่อผู้ส่งออกทำสัญญาซื้อ/ขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า ซึ่งจะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าที่ได้รับจะต่ำกว่าอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบัน

ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ซื้ออัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (ผู้นำเข้า) จะได้ประโยชน์จากการทำธุรกรรมดังกล่าว ในขณะที่ผู้ที่ขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (ผู้ส่งออก) จะเสียประโยชน์ เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าที่ขายได้จะถูกกว่าราคาในปัจจุบัน

คาดว่าธปท.จะเริ่มทยอยขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไทยได้ในปีหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อที่จะทยอยสูงขึ้น โดยคาดว่าจะขึ้น 2 ครั้งในปี 2018 และทยอยขึ้นต่อเนื่องในปีต่อไป

จะเห็นได้ว่า ปี 2018 จะเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ทั้งค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น และดอกเบี้ยนโยบายที่จะเริ่มทยอยปรับเพิ่มขึ้น

ดังนั้น ผู้ประกอบการควรเตรียมพร้อมรับมือกับทั้งความผันผวนจากค่าเงินบาทและจากต้นทุนทางการเงินที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับสูงขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน