คอลัมน์ วงล้อเศรษฐกิจ

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย

ครบรอบ 20 ปีวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อ 20 ปีก่อน ในวันที่ 2 ก.ค. 2540 เราต้องยอมจำนนต่อการโจมตีค่าเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ต้องปล่อยเงินบาทให้อ่อนค่าตามกลไกตลาด จากเดิมที่ตรึงค่าเงินไว้ที่ 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

อย่าถามนักเศรษฐศาสตร์เลยว่า วิกฤตการเงินหรือวิกฤตเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อไหร่และด้วยสาเหตุอะไร เพราะไม่เคยทำนายได้ถูกต้อง เพราะวิกฤตเปลี่ยนรูปแบบไปมา ต่อให้เราเฝ้าระวังแผลเดิม มันก็มีช่องโหว่สำหรับแผลใหม่ ที่เราไม่คาดคิดได้เสมอ

ทีนี้แผลใหม่หรือรูปแบบของวิกฤตรอบใหม่จะเป็นอะไรได้บ้าง ที่แน่ๆ มันคงไม่ซ้ำรอยปี 2540 เพราะทางธปท.ดูแลเสถียรภาพการเงินได้ดี

แล้วทำไมถึงตั้งคำถามว่าเรากำลังยืนฉงนอยู่ท่ามกลางวิกฤตโดยไม่รู้ตัวหรือไม่?

นั่นเพราะวิกฤตเปลี่ยนรูปร่างได้เสมอจนเราไม่อาจตามทันได้ วิกฤตที่เราคุ้นเคยมักเกิดขึ้นด้วยช็อกหรือเหตุการณ์ไม่คาดคิด เศรษฐกิจหดตัวแรง เหมือนรูปตัว V เศรษฐกิจถึงจุดต่ำสุด

แต่พอสถานการณ์คลี่คลาย เศรษฐกิจมีการปรับโครงสร้างใหม่ ก็จะสามารถเติบโตได้อีกครั้ง

ในภาวะปัจจุบัน แม้เราคงไม่เห็นรูปตัว V อีก แต่อย่า นิ่งนอนใจไป เพราะวิกฤตที่รุนแรงกว่าเดิมอาจก่อตัวขึ้นแล้วโดยที่เราไม่รู้ตัว นั่นคือเศรษฐกิจรูปตัว L ที่เศรษฐกิจไทย โตต่ำราวสัก 3.5% และลากยาวต่อเนื่องไปอย่างยาวนาน

หากเทียบวิกฤตรอบปี 2540 กับภาวะปัจจุบันแล้ว แน่นอนว่าปี 2540 มีความรุนแรงกว่ามาก เห็นได้จากเศรษฐกิจหดตัวแรง แต่วิกฤตครั้งนั้นเปิดโอกาสให้มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ จนกลับมาทะยานใหม่ได้

หากแต่รอบนี้เราไม่มีโอกาสรู้ตัว การปรับตัวค่อนข้างช้า และการที่เศรษฐกิจซึมยาวนั้น แม้ในระยะสั้นไม่เจ็บปวด แต่ในระยะยาวนั้นขนาดเศรษฐกิจอาจขยายใหญ่ได้ไม่เท่าการเกิดวิกฤตในรูปตัว V เสียด้วยซ้ำ นั่นเพราะการเติบโตที่ช้ามันกัดกร่อนศักยภาพและการปรับตัวของคนไทย

ประเทศไทยจะผ่านพ้นวิกฤตที่เรายังไม่รู้ตัวไปได้หรือไม่ ก็ฝากความหวังไว้กับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่

หาไม่แล้วศักยภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่จะโตได้เพียง 3.5% ต่อปี คงเป็นการตอกย้ำว่าเราไม่อาจผ่านพ้นวิกฤตรอบนี้ไปได้

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน