คอลัมน์ วงล้อเศรษฐกิจ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

จากสถานการณ์ฝนตกหนักทำให้เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้รับผลกระทบจากพายุเซินกา สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างในหลายจังหวัด โดยจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมาก อาทิ สกลนคร มหาสารคาม ศรีสะเกษ นครราชสีมา กาฬสินธุ์

ประเมินผลกระทบในเบื้องต้นต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากผลของอุทกภัยในภาคอีสาน ดังนี้

1. ประเมินผลกระทบความสูญเสียทางเศรษฐกิจ (Economic Loss) โดยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมรุนแรงหยุดชะงักไปประมาณ 7 วัน แต่ในพื้นที่ที่น้ำท่วมไม่รุนแรงจะมีความสูญเสียไม่มากนัก สำหรับการท่องเที่ยวอาจส่งผลกระทบไปถึงแหล่งท่องเที่ยวที่แม้ไม่ถูกน้ำท่วมแต่มีความยากลำบากในการเดินทาง

2. ผลกระทบดังกล่าวไม่รวมความเสียหายด้านทรัพย์สิน และโครงสร้างพื้นฐาน (เช่น ถนน สะพาน เป็นต้น)

3. ผลกระทบต่อภาคเกษตร คำนวณจากจำนวนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบราว 4.6 แสนราย ครอบคลุมพื้นที่ประสบภัยด้านพืช 3.6 ล้านไร่ ด้านปศุสัตว์ 5.6 แสนตัว รวมทั้ง ด้านประมง (บ่อปลาและกระชัง)

ประเมินว่า สถานการณ์อุทกภัยในภาคอีสานล่าสุด อาจมีผลทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมของไทยสูญเสียไปประมาณ 15,725 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.1% ของจีดีพี แบ่งเป็นในภาคเกษตรกรรม 12,375 ล้านบาท พาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม 2,000 ล้านบาท การท่องเที่ยวและบริการอื่นๆ 1,350 ล้านบาท

แต่ทั้งนี้เป็นการประเมินในเบื้องต้นที่ไม่ได้รวมความ เสียหายด้านทรัพย์สิน และยังต้องมีการติดตามระยะเวลา และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นระยะ และอาจมีการทบทวนตัวเลขนี้ตามความเหมาะสมในระยะต่อไป

อนึ่ง แม้ว่าตัวเลขผลกระทบดังกล่าวอาจมีผลไม่มากนักต่อภาพรวมเศรษฐกิจในระดับประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคาดว่าจีดีพีจะขยายตัว 3.4% ในปี 2560

แต่ในระดับภูมิภาค เหตุการณ์ภัยภิบัติที่เกิดขึ้นย่อมส่งผล กระทบค่อนข้างมากต่อคนในท้องที่ ที่ครัวเรือนในภาคอีสานก็เผชิญความยากลำบากอยู่ก่อนแล้ว จากปัญหารายได้ ภาคเกษตร การมีงานทำ รวมทั้งปัญหาในภาคธุรกิจ SMEs

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน