คอลัมน์ วงล้อเศรษฐกิจ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

คาดว่าค่าใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในการเลือกซื้อเครื่องสำอาง ปี 2560 มีแนวโน้มลดลง อันเป็นผลมาจากปัจจัยเรื่องค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือน ที่ทำให้การวางแผน งบประมาณใช้จ่ายเครื่องสำอางในปีนี้มีแนวโน้มลดลง

ทั้งนี้ แม้ว่าคนกรุงเทพฯ กลุ่มที่มีรายได้ค่อนข้างน้อย (รายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท) จะลดงบประมาณในการเลือกซื้อสินค้ากลุ่มเครื่องสำอางลง แต่ในกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางขึ้นไป (รายได้ต่อเดือนมากกว่า 20,000 บาท) กลับพบว่า มีแนวโน้มใช้จ่ายเลือกซื้อเครื่องสำอางใกล้เคียงกับปีก่อน และจะใช้งบประมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ตามระดับรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น

ซึ่งกลุ่มที่มีแนวโน้มใช้จ่ายเลือกซื้อเครื่องสำอางมากที่สุดคือ กลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,000-40,000 บาท รวมถึงกลุ่มวัยทำงานที่มีอายุระหว่าง 35-39 ปี โดยความต้องการดูแลภาพลักษณ์ของตนเองเพื่อสร้างบุคลิกภาพที่ดีอยู่เสมอ ถือเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกซื้อมากที่สุด

แตกต่างจากกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ยังคงให้ความสำคัญกับค่าครองชีพมาเป็นอันดับแรก และค่อนข้างจะระมัดระวังการใช้จ่าย โดยจะเลือกซื้อสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอางที่มีความจำเป็นหรือประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวันมาก่อน อาทิ ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล Personal Care (อาทิ สบู่ แชมพู ยาสีฟัน)

อย่างไรก็ดี ในภาพรวมคนกรุงฯ ค่อนข้างให้ความสำคัญกับสินค้าเครื่องสำอาง สะท้อนจากผลการสำรวจที่ระบุว่า ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่การฟื้นตัวยังไม่ชัดเจน แต่คนกรุงฯ กว่า 70.5% ยังเลือกที่จะจับจ่ายสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอางอยู่

แต่จะหันมาปรับพฤติกรรมในการเลือกซื้อ เช่น ประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ แทน อาทิ ค่าท่องเที่ยวและนันทนาการ (ดูหนัง/ฟังเพลง) หรือหากจำเป็นต้องลดงบประมาณในส่วนนี้ลง ก็จะยังคงซื้อเหมือนเดิมแต่จะเลือกเครื่องสำอางที่มีราคาถูกลงหรือแบรนด์ที่มีตำแหน่งทางการตลาดต่ำลงมาจากที่เคยใช้

ทั้งนี้ เม็ดเงินส่วนใหญ่ที่คนกรุงฯ ใช้จ่ายเพื่อซื้อเครื่องสำอางปี 2560 จะตกไปอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับแต่งหน้ามากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 32%

รองลงมาคือ น้ำหอม (25%) ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิว (12%) ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหรือสกินแคร์ (11%) ผลิตภัณฑ์สำหรับดูแลช่องปาก (10%) และผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม (10%) ตามลำดับ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน