ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics

ภาคการท่องเที่ยวถือเป็นสาขาเศรษฐกิจสำคัญของเอกชนที่ยังเติบโตได้ดี โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาถือเป็นหัวใจหลัก พยุงให้เศรษฐกิจไทยเติบโต

ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากกิจกรรมการท่องเที่ยวสร้างรายได้สู่เศรษฐกิจผ่านห่วงโซ่อุปทานหลายธุรกิจ อาทิ ภาคโรงแรม ร้านอาหาร ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้าส่ง/ค้าปลีก และภาคขนส่ง

อย่างไรก็ตาม เสียงสะท้อนจาก ผู้ประกอบธุรกิจขนาดย่อมในภูธร มองว่าแรงส่งภาคการท่องเที่ยวกลับอ่อนแรงและไปไม่ถึงเอสเอ็มอี

เมื่อนำโครงสร้างรายได้ปี 2559 มาศึกษา พบว่า กว่า 80% ของเม็ดเงินจากภาคท่องเที่ยวจำนวน 2.52 ล้านล้านบาท กระจุกอยู่ใน 17 จังหวัด โดยแหล่งรายได้ 2 ใน 3 เกิดจากค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อวิเคราะห์ด้านการ กระจายตัวของรายได้ กลับกระจุกในพื้นที่เพียง 4 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี และสุราษฎร์ธานี เท่านั้น

ขณะที่รายได้จากคนไทยเที่ยวไทยกลับกระจายตัวมากกว่า โดยครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และหัวเมืองหลักของแต่ละภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ (เชียงใหม่ เชียงราย) ภาคตะวันออก (ชลบุรี ตราด) ภาคใต้ (ภูเก็ต กระบี่ สงขลา ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช)

ภาคกลาง (ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี เพชรบุรี อยุธยา) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นครราชสีมา ขอนแก่น) ตามลำดับ

จึงไม่น่าแปลกใจที่ชาวภูธรยังรู้สึกว่าการขยายตัวของภาคท่องเที่ยวมีบทบาทต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ เพราะเม็ดเงินสะพัดกระจุกอยู่เฉพาะเมืองเศรษฐกิจไม่กี่เมือง

มาตรการ “ลดหย่อนภาษีเที่ยว 3 โซน” ที่คาดว่าจะออกในปีหน้า อาจช่วยกระตุ้นให้คนไทยท่องเที่ยวหลากหลายพื้นที่มากขึ้น แต่เราต้องไม่ลืมว่ารายได้หลักยังคงมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กระจุกตัวในจังหวัดท่องเที่ยวหลักเท่านั้น จึงทำให้เศรษฐกิจภูมิภาคและเอสเอ็มอี ยังไม่ได้ประโยชน์อย่างทั่วถึง

ดังนั้น รัฐต้องเร่งพัฒนาและประชาสัมพันธ์ เมืองท่องเที่ยวใหม่ให้ ต่างชาติได้รับรู้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เองต้องปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ นักท่องเที่ยวพร้อมโปรโมตธุรกิจผ่าน โซเชี่ยลเน็ตเวิร์กมากขึ้น

น่าจะลดการเที่ยวกระจุกของต่างชาติและหนุนรายได้ให้กระจายสู่ภูมิภาค เพื่อให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยได้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน