วงล้อเศรษฐกิจ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2561 ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 มีมติเห็นชอบการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในทุกจังหวัดประจำปี 2561 มาอยู่ในช่วง 308-330 บาท/วัน (เฉลี่ย 315.97 บาท/วัน) จากอัตรา 300-310 บาท/วันในปี 2560 (เฉลี่ย 305.44 บาท/วัน) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561 เป็นต้นไป

สำหรับผลต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมนั้น ประเมินว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 2.6% ในปี 2561 จะส่งผล กระทบทางตรงต่อต้นทุนของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor-intensive) ให้เพิ่มขึ้นราว 0.4% ของต้นทุนทั้งหมด

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคนั้น รายได้ของแรงงานไม่มีฝีมือและแรงงานกึ่งมีฝีมือที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพบางส่วนของแรงงาน รวมถึงช่วยหนุนการใช้จ่ายของครัวเรือนให้เพิ่มขึ้นตามกำลังซื้อที่สูงขึ้น ส่งผลบวกต่อมูลค่าจีดีพีในประเทศ

แต่ในขณะเดียวกัน การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการในส่วนแรงงานของ ผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อประกอบกับต้นทุนการผลิตอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น ก็อาจทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนตัดสินใจถ่ายโอนภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นผ่านทางด้านราคาสินค้าและบริการ คาดว่าจะทำให้ระดับราคาสินค้าและบริการของ ผู้บริโภคในปี 2561 เพิ่มขึ้นราว 0.06%

อย่างไรก็ตาม รายได้ของแรงงานที่เพิ่มขึ้นก็จะช่วยหนุนมูลค่าจีดีพีได้บางส่วน ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าภายในประเทศ อาทิ กระดาษชำระ ผงซักฟอก สบู่ แชมพู ไข่ไก่ ผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่ม ฯลฯ ซึ่งจะส่งผลให้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำกระทบภาพรวมเศรษฐกิจไทยอย่างจำกัด

ทั้งนี้ จากการประเมินผลกระทบต่อมูลค่าจีดีพีของไทยในปี 2561 นั้น คาดว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลต่อมูลค่าจีดีพีอย่างไม่มีนัยสำคัญ กล่าวคือ ผลสุทธิของมูลค่าจีดีพีจะลดลงเล็กน้อยราว 0.02% เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

จึงยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2561 ไว้ที่ 4.0% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปี 2561 ที่ 1.1% ดังเดิม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน