คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในการประชุมนโยบายการเงินรอบแรกของปี 2561 ระหว่างวันที่ 30-31 ม.ค. เพื่อรอดูพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐ

ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่าในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาได้มี เหตุการณ์หลายๆ เหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการผ่านร่างมาตรการปรับลดภาษี ตลอดจนทิศทางของค่าเงินดอลลาร์ ที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ คงจะมีผลต่อมุมมองการขยายตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งพัฒนาการของเงินเฟ้อสหรัฐในระยะ ข้างหน้า ซึ่งเฟดคงจะรอติดตามพัฒนาการต่างๆ เหล่านี้อีกระยะ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจต่อการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า

หากมุมมองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐ มีทิศทางปรับดีขึ้น โดยโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยจำนวน 3 ครั้งในปีนี้ยังมีอยู่ เฟดยังคงอยู่ในวัฏจักรของการปรับขึ้นดอกเบี้ยอยู่ เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยรวมมีโอกาสที่จะขยายตัวสูงกว่าที่เฟดประมาณการเดือนธ.ค. 2560 จากแรงหนุนของมาตรการปรับลดภาษี

ขณะที่ทิศทางการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ รวมทั้งราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูงอาจจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับตัวของเงินเฟ้อ ซึ่งเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างทั้งจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของเฟด ที่ขยับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและระดับเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะยาวก็สามารถกลับมายืนเหนือระดับ 2% อีกครั้ง โดยปัจจัยดังกล่าวคงเปิดโอกาสให้เฟดสามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ในการประชุมรอบ มี.ค. อย่างเร็วที่สุด

สำหรับผลต่อประเทศไทย การคงดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในครั้งนี้ไม่น่าจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงต่อการดำเนินนโยบายการเงินของไทย ขณะที่ปัจจัยที่กระทบต่อตลาดการเงินไทย ในปัจจุบันมาจากประเด็นความเสี่ยงทางการเมืองสหรัฐเป็นหลัก ซึ่งเป็นปัจจัยที่กดดันให้เงินดอลาร์ ยังมีทิศทางอ่อนค่าลงใน ช่วงนี้

อย่างไรก็ดี หากเฟดยังคงส่งสัญญาณถึงทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ชัดเจนมากขึ้น คงน่าจะช่วยบรรเทาการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ไปได้บางส่วน ในส่วนของทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยคงทยอยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตามการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน