ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนก.พ. อยู่ที่ 0.42% YOY ชะลอลงจาก 0.68% YOY ในเดือนม.ค. ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 0.63% YOY จาก 0.58% YOY ในเดือนก่อน

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลง จากราคาขายปลีกน้ำมัน เชื้อเพลิงในประเทศที่ลดลงตามเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 10% YOY ในเดือนก.พ. ซึ่งทำให้ต้นทุนนำเข้าราคาน้ำมันดิบถูกลง

ขณะที่ดัชนีราคาอาหารสดยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ที่ -1.53% YOY โดยเฉพาะราคาเนื้อสัตว์ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ส่งผลให้ในภาพรวมแล้วเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงจากเดือนก่อน

เงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวขึ้นเล็กน้อยตามราคาอาหารสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้น 1.11% YOY

คาดเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยฟื้นตัวเฉลี่ยทั้งปี 2018 อยู่ที่ 1.1% YOY โดยปัจจัยหลักที่จะทำให้เงินเฟ้อปรับสูงขึ้นคือ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงกว่า ปีก่อน ตามข้อตกลงขยายระยะเวลาการลดปริมาณการผลิตน้ำมันลงของกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC รวมถึงการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตยังคงมีผลต่อเงินเฟ้อต่อเนื่องไปจนถึง ช่วงครึ่งแรกของปี

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยกดดันที่ทำให้เงินเฟ้อฟื้นตัวได้ช้า ได้แก่ ราคาอาหารสดโดยเฉพาะราคาผักและผลไม้ ยังมีแรงกดดันจากผลผลิตทางการเกษตรที่อาจมีปริมาณออก สู่ตลาดจำนวนมากตามแนวโน้มสภาพอากาศและปริมาณน้ำที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต และเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นซึ่งจะทำให้สินค้านำเข้ามีราคาถูกลง

ทั้งนี้ เงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำเป็นความท้าทายสำคัญ ต่อนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยมองว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะคงที่ตลอดปี 2018 ที่ 1.5%

มองว่าเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำที่ 0.6% ในปี 2018 โดยราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปอาจปรับขึ้นได้ยาก เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอ โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้มีรายได้น้อย ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำท่ามกลางตลาดแรงงานที่ยังซบเซาอาจไม่ได้ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในภาพรวมมากนัก

อย่างไรก็ดี ต้องจับตาผู้ประกอบการบางส่วนที่ต้องแบกรับต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้นซึ่งอาจมีผลให้ต้องปรับราคาสินค้าบางชนิดขึ้นตามไปได้ในระยะต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน