บันทึกร้อน‘ยานยนต์ไทย’2563 – ปี 2563 ถือว่าหนักหนาสาหัสที่สุดปีหนึ่งของวงการยานยนต์ไทยก็ว่าได้ เพราะไม่เพียงยอดขายรถยนต์ที่ต่ำเตี้ย หดตัวต่อเนื่องมาก่อนหน้านี้หลายปีที่ส่งผลกระทบเท่านั้น

การมาถึงของ ‘โควิด-19’ ยิ่งเหมือนตอกตะปูปิดฝาโลงเข้าไปอีก พลอยทำให้ยอดขายครึ่งปีแรกหดตัวอย่างหนัก ก่อนค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงท้ายๆ ไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นจังหวะที่โควิดในไทยเริ่มซาลงไป

ทำให้ในรอบปี 2563 มีประเด็นหลักๆ หลากหลายเรื่องราวยานยนต์ไทยให้บันทึกไว้

ปิดตำนาน 20 ปี ‘เชฟโรเลต’

ข่าวใหญ่ข่าวแรกของปีมาชนิดช็อกทั้งวงการ เมื่อจู่ๆ ‘เชฟโรเลต’ หนึ่งในแบรนด์รถยนต์เครือเจนเนอรัล มอเตอร์ส หรือจีเอ็ม ยักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกา ประกาศยุติการดำเนินงานในประเทศไทย เหลือไว้เพียงบริการหลังการขายเท่านั้น

‘เชฟโรเลต’ เปิดบริษัทอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2543 โดยได้จังหวะที่ประเทศไทยเจอปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ‘ต้มยำกุ้ง’ ลดค่าเงินบาทจาก 25 บาท/ดอลลาร์ ทะลุไปราวๆ 50 บาท/ดอลลาร์

ทำให้ค่ายรถยนต์ทั่วโลกแห่กันมาปักธงฐานการผลิต และทำตลาดแทนผู้จำหน่ายเดิมที่ส่วนใหญ่เป็นดีลเลอร์ใหญ่หรือผู้นำเข้า ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ แถมบริษัทแม่ยังประหยัดเงินลงทุนไปมหาศาลเมื่อเทียบค่าเงินในช่วงเวลานั้น

แต่เพียง 20 ปีต่อมา เชฟโรเลต ประเทศไทย ต้องปิดฉากลง หลังจากตกลงดีลซื้อขายโรงงานผลิตรถยนต์ที่ระยองให้กับ ‘เกรท วอลล์ มอเตอร์’ ยักษ์ใหญ่เจ้าตลาดรถเอสยูวีจากประเทศจีนได้สำเร็จ

จีเอ็ม อินเตอร์เนชันแนล โอเปอเรชันส์ ออกเอกสารถึงเหตุผลการปิดฉากเชฟโรเลตในไทย มาจากปัญหาเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ที่ทำให้ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าหมายติดต่อกันหลายปี

หลังจากเชฟโรเลตประกาศยุติบทบาท ไม่กี่วันก็สร้างกระแส ฮือฮาอีกครั้ง เพราะประกาศลดราคารถยนต์ทุกรุ่นชนิดล้างสต๊อก

ลดสูงสุดเป็นเชฟโรเลต แคปติวา ใหม่ ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปลายปี 2562 หั่นราคาถึงคันละ 5 แสนบาท

รุ่นต่ำสุดคือ LS ราคา 999,000 บาท เหลือ 499,000 บาท ถูกกว่ารถอีโคคาร์ด้วยซ้ำ

ส่วนปิกอัพและเทรลเบรเซอร์ก็ลดหลั่นกันไป แต่อย่างต่ำหั่นราคาไปแสนเศษๆ

เพียงวันเดียวที่ประกาศ ลูกค้าแห่จองแน่นทุกศูนย์บริการ จนสต๊อกแคปติวาหมดอย่างรวดเร็ว

จีเอ็มและเชฟโรเลตยืนยันว่ายังมีศูนย์บริการอยู่ แต่ลดขนาดให้ย่อมลงเพราะไม่มีโชว์รูมแล้วนั่นเอง ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 100 ศูนย์บริการกระจายทั่วประเทศ

ส่วนรถใหม่ยังการันตี 3 ปี หรือ 1 แสนกิโลเมตรเช่นเดิม

รวมทั้งมีสต๊อกอะไหล่ยาวถึง 10 ปี และไม่ใช่เฉพาะรถใหม่เท่านั้น แต่อะไหล่รุ่นแรกอย่างซาฟิร่า หรือเก๋งออพตร้า ยังมีบริการอยู่

ปีแห่งการมาของรถทางเลือก

รถยนต์พลังงานทางเลือก ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า 100% หรืออีวี และรถไฮบริด ลูกผสมน้ำมัน-ไฟฟ้า เป็นเทรนด์ที่มาแรงทั่วโลกรวมถึงเมืองไทย รัฐบาลให้การสนับสนุน แม้ไม่เต็มที่นักแต่ทำให้บรรดาค่ายรถส่งรถพลังงานทางเลือกเข้ามาจำหน่ายจำนวนมาก

โดยเฉพาะในปี 2563 มากันแบบนับไม่หวาดไม่ไหว และแทบทุกค่ายที่มีรถประเภทนี้ก็ส่งมาร่วมแชร์ตลาดกันอย่างคึกคัก

ภาคเอกชนเองก็ให้การสนับสนุน อาทิ เพิ่มจุดชาร์จตามอาคารคอนโดมิเนียม หรือห้างสรรพสินค้า และโชว์รูมของตัวเอง

นอกจากนี้ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้บริษัทผู้ผลิตสามารถสร้างแบตเตอรี่ที่มีความจุเพิ่มขึ้น ทำให้รถหลากหลายรุ่นมีระยะทางการขับขี่ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง พอๆ กับการเติมน้ำมัน 1 ถัง

รวมถึงการมี ‘ควิกชาร์จ’ หรือชาร์จแบบเร็ว ช่วยร่นระยะเวลา

ท้ายสุดไม่พ้น ‘ราคา’ ที่คนไทยเริ่มจับต้องได้ รถหลายรุ่นไม่ถึง 1 ล้านบาทด้วยซ้ำ

ค่ายหลักๆ ที่ลงมาในตลาดนี้เต็มตัวต้องยกให้ ‘เอ็มจี’ ออกรถยนต์ไฟฟ้ามาเป็นทางเลือกเทียบกับรถยนต์สันดาปภายใน เรียกว่าปล่อยออกมา 2 แบบเครื่องยนต์ เช่น ‘เอ็มจี แซดเอส’ เมื่อปี 2562

ในปี 2563 จัดหนักมาอีก 2 รุ่นหลักๆ คือ ‘NEW MG HS PHEV’ รถเอสยูวีขนาดกลางแบบไฮบริด

และ ‘NEW MG EP’ รถแบบสเตชั่นแวกอน ตั้งราคา 988,000 บาท

มิตซูบิชิ เอาต์แลนเดอร์ พีเอชอีวี มีให้เลือก 2 รุ่น ‘จีที’ ราคา 1,640,000 บาทและ ‘จีที พรีเมียม’ ราคา 1,749,000 บาท

‘นิสสัน คิกส์’ รถพลังงานไฟฟ้าที่ใช้เครื่องยนต์ปั่นไฟเข้าแบตเตอรี่เพื่อขับเคลื่อน เน้นการแก้ปัญหาที่คนชอบรถไฟฟ้ากังวลเรื่องสถานีชาร์จ

ไม่นับรถจากแบรนด์ยุโรปทั้ง เมอร์เซเดส-เบนซ์ บีเอ็มดับเบิลยู อาวดี้ ฯลฯ ที่มีทั้งรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และรถไฮบริด มาให้เลือกอีกเพียบนับสิบๆ รุ่น

‘ครอสโอเวอร์’มาแรงจัด

นอกจากรถยนต์พลังงานทางเลือกแล้ว ในปี 2563 เป็นปีที่มีรถ ‘ครอสโอเวอร์’ เข้ามาทำตลาดอย่างมากมาย หลังจากที่คนไทยเริ่มให้ความนิยมมากขึ้น จากแต่เดิมคนไทยจะเน้นรถเก๋ง หรือปิกอัพมากกว่า

รุ่นเด่นๆ เช่น ซูซูกิ ‘เอ็กซ์แอลเซเว่น’ (SUZUKI XL7) แบบ 7 ที่นั่ง ใช้แพลตฟอร์มเดียวกับ ‘เออร์ติก้า’ แต่รูปโฉมได้ความสปอร์ตพรีเมียม รวมทั้งปรับระบบช่วงล่างใหม่

ขุมพลังเครื่องยนต์เบนซิน K15B 4 สูบ 16 วาล์ว ความจุ 1,462 ซีซี บล็อกเดียวกับเออร์ติก้า แต่ปรับจูนกล่องควบคุมเพิ่มความกระชับของเครื่องยนต์มากขึ้น ให้กำลังสูงสุดถึง 105 แรงม้าที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิด 138 นิวตัน-เมตรที่ 4,400 รอบต่อนาที

ราคาช่วงแนะนำอยู่ที่ 779,000 บาท (สีขาวเพิ่ม 5,000 บาท)

‘โคโรลล่า ครอส’ ค่ายโตโยต้าส่งเข้าประกวดใช้พื้นฐานเดียวกับ ‘โคโรลล่า อัลติส’ เปิดตัวที่ไทยครั้งแรกในโลก

ขุมพลัง 2 บล็อก คือ DOHC 4 สูบ 16 วาล์ว ความจุ 1,798 ซีซี กำลังสูงสุด 98 แรงม้าที่ 5,200 รอบต่อนาที แรงบิด 142 นิวตัน-เมตรที่ 3,600 รอบต่อนาที

และแบบไฮบริด ใช้เครื่องยนต์แบบเดียวกัน แต่เพิ่มมอเตอร์แรงดันไฟฟ้า 201.6 โวลต์ เมื่อทำงานร่วมกับเครื่องยนต์ให้กำลังสูงสุด 122 แรงม้า

มี 4 รุ่นย่อยราคา 989,000 – 1,199,000 บาท

มาสด้า ‘ซีเอ็กซ์-30’ ใช้แพลตฟอร์มใหม่ SKYACTIV-VEHICLE ARCHITECTURE พัฒนาจากท่วงท่าของมนุษย์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ เด่นทั้งภายนอก-ภายใน

รวมถึงขุมพลัง SKYACTIV-G 2.0 ความจุ 1,998 ซีซี กำลังสูงสุด 165 แรงม้าที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 213 นิวตันเมตรที่ 4,000 รอบต่อนาที ระบบเกียร์ SKYACTIV-Drive 6 สปีด พร้อมแมนวล โหมด รองรับน้ำมันได้สูงสุดถึง E85

เจ๋งไม่เจ๋งสามารถคว้ารางวัล ‘รถยนต์ยอดเยี่ยมประจำปี 2563’ (Thailand Car of The Year) ของสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และ รถจักรยานยนต์ไทย (สรยท.) ซึ่งแจกให้กับรถเพียงรุ่นเดียว ในแต่ละปี

มี 3 รุ่นย่อย ราคา 989,000 – 1,199,000 บาท

อื่นๆ เช่น มิตซูบิชิ ‘เอ็กซ์แพนเดอร์’ เป็นต้น

ฮอนด้า‘ซิตี้ ซีรีส์’เขย่าไทย

ช่วงปลายปี 2562 ค่าย ‘ฮอนด้า’ สร้างความสะเทือนวงการรถยนต์เมืองไทยด้วยการลดน้ำหนัก ‘ซิตี้’ จากเซ็กเมนต์ซิตี้คาร์ลงมาเล่นในอีโคคาร์ หลังปล่อยให้ค่ายอื่นๆ นำไปก่อนหลายช่วงตัว

‘ซิตี้’ ที่ลดพิกัดลงมาเล่นในเซกเมนต์ต่ำกว่า เพื่อได้สิทธิทางภาษีทำให้ตั้งราคาได้ต่ำลง

ขณะที่ขุมพลังใช้เครื่องยนต์ 1.0 ลิตร เทอร์โบ ที่ต้องบอกว่าแรงจัดๆ ซิ่ง 180 ก.ม./ชั่วโมงได้สบาย ทำให้กวาดยอดขายถล่มทลายอย่างน่าพอใจ

มาในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ฮอนด้าตอกย้ำความแรง และขอเขย่าตลาดรถอีโคคาร์อีกระลอกด้วยการส่ง ‘ซิตี้ ซีรีส์’ มาอีก 2 รุ่น

นั่นคือ ‘ซิตี้ แฮตช์แบ็ก’ แบบ 5 ประตูและ ‘ซิตี้ อี:เอช อีวี’ พลังงานไฮบริด เป็นครั้งแรกของรถอีโคคาร์

ทั้ง 3 รุ่นใช้พื้นฐานเดียวกันทั้งหมด ต่างกันที่รูปทรงและขุมพลัง

โดยซิตี้ และซิตี้ แฮตช์แบ็ก ใช้เครื่องยนต์เดียวกัน

ส่วนซิตี้ อี:เอชอีวี ถอดแบบมาจาก ‘แอคคอร์ด’ เพียงแต่ย่อส่วนลงมา ด้วยนวัตกรรม Sport Hybrid Intelligent Multi-Mode Drive (i-MMD) ผสานการทำงานอันทรงพลังของมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว กับเครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตร Atkinson Cycle DOHC i-VTEC 4 สูบ 16 วาล์ว

เรียกว่าเป็นครั้งแรกของฮอนด้า ประเทศไทย ที่ส่งรถพื้นฐานเดียวกันออกมาเป็น ‘ซีรีส์’ ถึง 3 รุ่น

‘เซเลริโอ’เก๋งเล็กราคาถูก

ในปี 2563 ถือเป็นครบรอบ 1 ศตวรรษของค่าย ‘ซูซูกิ’ ในเมืองไทยเองร่วมเฉลิมฉลองด้วยการออกรถรุ่นพิเศษ

แต่ที่สร้างกระแสร้อนแรงไม่พ้นการหั่นราคาเก๋งเล็ก ‘เซเลริโอ’ ที่ปกติถือว่าเป็นเก๋งที่ราคาต่ำสุดในตลาดอยู่แล้ว ให้ยิ่งต่ำลงไปอีก โดยตัวเริ่มต้นเกียร์ธรรมดาในช่วงแคมเปญเหลือเพียง 318,000 บาท ส่วนอีก 2 รุ่นบนก็ลดราคาลงหลายหมื่นบาท

อย่างไรก็ตามเมื่อหมดแคมเปญแล้ว ราคารถขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยรุ่นละ 10,000 บาท

เซเลริโอ GA M/T จากเดิม 363,000 บาท เหลือ 328,000 บาท

เซเลริโอ GL CVT จากเดิม 443,000 บาท เหลือ 408,000 บาท

และเซเลริโอ GX CVT จากเดิม 472,000 บาท เหลือ 437,000 บาท

ด้วยราคาที่ค่อนข้างต่ำนี่เองทำให้เซเลริโอ กลับมาสร้างยอดขายให้เติบโตเพิ่มขึ้นได้สูงถึง 274.94% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมียอดขายรวมอยู่ที่ 3,665 คัน (ม.ค.-พ.ย. 2563)

ซูซูกิ เซเลริโอ เป็นเก๋งเล็ก 5 ประตู เครื่องยนต์ 3 สูบ 12 วาล์ว ขนาด 1.0 ลิตร แม้รูปลักษณ์ภายนอก-ภายในจะเน้นเรียบง่าย เส้นสายไม่หวือหวา เรียกว่าเป็นรถที่ซื้อมาเพื่อใช้งานจริงๆ แต่กระนั้นในตลาดพอมีชุดแต่ง ชุดประดับยนต์ออกมาให้เลือกบ้าง

เรียกว่าพอแต่งหน้าทาปากแล้วถือว่าไปวัดไปวาได้

ส่วนการขับขี่แน่นอนว่าด้วยเครื่องยนต์ 1.0 ลิตร เน้นในเมืองเป็นหลัก แต่ไปต่างจังหวัดหากไม่รีบร้อนเกินไป เหยียบสัก 90-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงสบายๆ

อีกประการคือความประหยัดเหนือกว่าอีโคคาร์เกือบทุกรุ่นในตลาด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน