เดลล์ออพติเพล็กซ์พีซีทำงาน-ขนาดกะทัดรัด : คอลัมน์ หลากหลายไอที

เดลล์ออพติเพล็กซ์ – อุปสรรคหนึ่งที่สำคัญที่สุดของบรรดาคอมพิวเตอร์พีซีที่มีจุดเด่นที่ประสิทธิภาพทรงพลัง และความสะดวกสบายในการทำงานนั้นหนีไม่พ้นเนื้อที่ที่คอมพ์ทั้งเครื่องต้องใช้ไม่ว่าจะเป็นทั้งจอภาพ และเคสใหญ่เทอะทะ แป้นพิมพ์ และเมาส์พร้อมสายรกรุงรังเป็นไส้กระสือ

เดลล์ ค่ายผู้พัฒนาเทคโนโลยีชื่อดังจากประเทศสหรัฐอเมริกา จึงเปิดตัวพีซีแบบใหม่ มาปฏิวัติการทำงานของผู้ใช้ ด้วยนวัตกรรมออกแบบที่ลดทอนอุปสรรคข้างต้นลงทั้งหมดภายใต้รุ่นออพติเพล็กซ์ 7070 อัลตรา (OptiPlex 7070 Ultra)

เดลล์ออพติเพล็กซ์

จอขอบน้อยน่ามอง

 

ออพติเพล็กซ์ 7070 อัลตรา เป็นเดสก์ท็อปนวัตกรรมใหม่ที่เอาเทคโนโลยีขนาดเล็กที่ทรงพลังไปจัดเก็บในแนวดิ่งในรูปแบบของขาตั้งจอมอนิเตอร์ที่บางเบา ด้วยการออกแบบมาเพื่อเป็นเดสก์ท็อปที่มอบความยืดหยุ่นสูงสุดในการทำงานให้กับผู้ใช้และไม่กินพื้นที่ในการวาง (zero-footprint desktop)

การออกแบบยังมีความสวยงามและดูเป็นมืออาชีพ ประหยัดพื้นที่ในการใช้งาน และเรียบง่ายไม่เกะกะ รวมทั้งสามารถแยกส่วนการทำงานได้อย่างเต็มรูปแบบซึ่งช่วยให้ผู้ใช้สามารถปรับแต่ง หรืออัพเกรดตัวเครื่องได้ตามต้องการตลอดอายุการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นทั้งตัวพีซีและจอมอนิเตอร์ มีให้เลือกตั้งแต่ขนาด 19-27 นิ้ว

เดลล์ออพติเพล็กซ์

แผงระบายความร้อน

 

ชิ้นส่วนหลักๆ ของ ออพติเพล็กซ์รุ่นนี้ ประกอบด้วย 4 ชิ้นใหญ่ๆ ได้แก่ จอมอนิเตอร์ ซึ่งเป็นชิ้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแล้ว ตามด้วยตัวก้านจอที่ภายในสามารถเลื่อนเพื่อเปิดออกได้ ใช้เพื่อบรรจุเคสขนาดเล็กที่เป็นศูนย์รวมอุปกรณ์ภายใน พร้อมช่องสอดสายที่มีฟีเจอร์สำหรับม้วนเก็บและช่องให้สายออกมาจากเคสอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย

ต่อมาเป็นเคสของคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเล็กกะทัดรัดอย่างไม่น่าเชื่อ ใหญ่กว่าฝ่ามือของผู้ทดสอบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สุดท้ายเป็นฐานของเครื่องที่ใช้ประกอบเข้ากับก้านจอ นอกจากนี้ ทางเดลล์ยังให้ทางเลือกติดตั้งจอแบบ VESA mount มาด้วย

ทางเดลล์ยังออกแบบการประกอบมาให้มีความเรียบง่าย โดยภายในกล่องมีคู่มือแถมมาให้ แต่ผู้ทดสอบพบว่าการประกอบนั้นเข้าใจได้ง่ายดาย แม้แต่ผู้ที่ไม่เคยประกอบคอมพิวเตอร์มาก่อนก็ทำเองได้

เดลล์ออพติเพล็กซ์

ช่องผ่านสายเป็นระเบียบ

เดลล์ออพติเพล็กซ์

ชิ้นส่วนการประกอบ

 

ขั้นแรกเริ่มจากการเลื่อนฝาที่ก้านจอออกเพื่อนำเคสบรรจุเข้าไปไว้ภายในแล้วต่อสายต่างๆ ออกมา อาทิ สายไฟ และสายเชื่อมต่อกับจอผ่าน Display Port จากนั้นจึงฐานมาประกอบเข้ากับข้างใต้ของก้านจอ

จากนั้นจึงนำก้านจอที่ประกอบเสร็จสิ้นกันำฐานไปประกบฝาก้านจอกลับเข้าไปแล้วนำก้านจอไปประกบกับด้านหลังจอภาพ ซึ่งที่ยึดนั้นง่ายดายมาก เพียงแค่ผู้ใช้กดปุ่มลงค้างไว้เพื่อเลื่อนก้านล็อกลงมา นำก้านจอวางเข้าประกบให้ตรงแล้วปล่อยปุ่ม

ก้านล็อกก็จะเลื่อนเข้าไปล็อกอย่างแน่นหนา แต่เพื่อความปลอดภัย ผู้ทดสอบแนะนำว่าควรไขนอตยึดเพิ่มเติมด้วย แม้จะรู้สึกได้ถึงความแน่นหนาไม่โยกเยกก็ตาม การประกอบทั้งหมดนั้นสามารถทำได้ด้วยมือเปล่า ไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์ใดๆ แต่แนะนำว่าหากมีไขควงก็จะทำให้การประกอบแน่นหนาปลอดภัยมากขึ้น

เดลล์ออพติเพล็กซ์

ตัวเคสขนาดเล็กน่าประทับใจ(ขวา)

 

ส่วนแป้นพิมพ์ และเมาส์ ที่แถมมานั้นเป็นระบบเชื่อมต่อผ่านบลูทูธทั้งหมด ช่วยทำให้ไม่ต้องมีสายรกรุงรัง ทั้งหมดนี้เพื่อประหยัดเนื้อที่และทำให้โต๊ะทำงานดูสะอาดตา ถือว่าเป็นการออกแบบที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการที่เดลล์นำฮาร์ดแวร์ทั้งหมดไปบรรจุไว้ในเคสขนาดเล็กอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งบรรจุไว้ในก้านจอได้

เมื่อประกอบเสร็จแล้วที่ก้านจอจะมีสวิตช์เปิดปิดอยู่ด้านบน ที่ขอบข้างขวาของจอมี Audio jack, USB 3.0 และ USB-C เพิ่มเติม ขณะที่จอภาพนั้นจะมี USB 3.0 อีกจำนวน 2 พอร์ต ที่ด้านข้าง และอีก 2 พอร์ตที่หลังจอ

ถือว่าเหลือเฟือกับการใช้งาน ส่วน Ethernet นั้นจะอยู่ที่ตัวเคสซึ่งอยู่ภายในก้านจอ ผู้ใช้ต้องถอดออกมาก่อนจึงจะใส่ นอกจากนี้ ยังมี USB 3.0 อีก 2 พอร์ตที่เคสด้วย รวมทั้งสิ้น 7 พอร์ต และแผงระบายความร้อนพ่นลมขึ้นไปด้านบนจากก้านจอ

ด้านประสิทธิภาพการทำงานของออพติเพล็กซ์ 7070 อัลตรา ถือว่าเพียงพอต่อการทำงานทั่วไปแล้ว โดยใช้ขุมพลังจากหน่วยประมวลผล กลาง(ซีพียู) Intel Core i5 8365U ความถี่สัญญาณนาฬิกาฐาน 1.60 กิกะเฮิร์ซ (GHz) และเทอร์โบ 1.90 GHz

หน่วยความจำแรม 8 กิกะไบต์ (GB) พร้อม Intel UHD Graphics 620 เป็นหน่วยประมวลผลกราฟิก (จีพียู)แบบบิลด์-อิน หน่วยเก็บข้อมูลแบบ NVMe SSD ขนาด 256 GB ใช้ระบบปฏิบัติการไมโครซอฟท์ วินโดวส์ 10 จากประเทศสหรัฐอเมริกา

ตัวเลือกสเป๊กอัพเกรดได้เป็น Intel Core i7 series หน่วยความจำแรมสูงสุด 64 GB และหน่วยเก็บข้อมูลภายในแบบ NVMe SSD ขนาด 1 เทร่าไบต์ (TB) หรือ HDD ขนาด 2 TB น่าเสียดายที่ไม่มีตัวเลือกเรื่องจีพียูมา ซึ่งเข้าใจได้ เพราะการติดตั้งจีพียูแบบต่างหากเข้าไปจะทำให้กินไฟและเนื้อที่มากขึ้นมหาศาล

เดฟ ลินคอร์น รองประธานฝ่าย Fixed Computing ของเดลล์ กล่าวว่า ผลการวิจัยลูกค้าของเดลล์แสดงให้เห็นว่าบริษัทต่างๆ พึงพอใจความสามารถในการที่จะอัพเกรดระบบที่ใช้งานอยู่ อีกทั้งยังพอใจสุนทรียภาพที่ได้รับจากเครื่องแบบ All-in-One เพราะลูกค้ามีแนวโน้มที่จะอัพเกรดคอมพิวเตอร์บ่อยครั้งกว่าจอแสดงผล

ดังนั้น ศักยภาพการอัพเกรดได้อย่างอิสระของเครื่อง Ultra จึงนำเอาสิ่งที่ดีที่สุดของเครื่องเดสก์ท็อปและ All-in-One เข้ามารวมไว้ด้วยกันในแพลตฟอร์มนวัตกรรมใหม่ให้เป็นหนึ่งเดียว

ความเห็นนี้ตรงกับ นพดล ปัญญาธิปัตย์ กรรมการผู้จัดการ เดลล์ เทคโนโลยีส์ ประเทศไทย กล่าว การผสานกันของเครื่อง AIO และเครื่องฟอร์ม แฟกเตอร์แบบ Micro ทำให้องค์กรธุรกิจในประเทศไทย ช่วยให้พนักงานเพิ่มประสิทธิผลในการทำงานสูงสุดในขณะที่รักษาสภาพแวดล้อมการทำงานที่สวยงามเรียบหรูเอาไว้ได้

ผลการทดสอบออพติเพล็กซ์ 7070 อัลตรา สรุปได้ว่าออกแบบที่กะทัดรัดน่าประทับใจ เพราะประหยัดเนื้อที่มาก ทั้งยังมีความยืดหยุ่นในการอัพเกรดสูงมาก

ทว่ายังมีบางจุดที่ผู้ทดสอบมองว่าเดลล์ควรพิจารณายกระดับขึ้นไปอีก เริ่มจากปลั๊กไฟที่ยังต้องแยก 2 โมดูล จากจอ 1 เส้น และเคสอีก 1 เส้น หากจะหาวิธีออกแบบให้ใช้เส้นเดียวจบได้ทั้งจอและเคสได้จะยอดเยี่ยมมาก แม้ในกรณีนี้จะมีประโยชน์กว่าในแง่ของการซ่อมบำรุงก็ตาม

ถัดมาเป็นแป้นพิมพ์ และเมาส์ ซึ่งเป็นระบบบลูทูธ การเชื่อมต่อผ่านสัญญาณประเภทนี้มีความเสถียรเหลือเฟือก็จริง และช่วยให้โต๊ะทำงานแลดูสะอาดตา แต่ย่อมหมายถึงภาระการบำรุง เพราะต้องใช้แหล่งพลังงานจากถ่านก้อนแบบ AAA

อย่างน้อยควรให้แป้นพิมพ์และเมาส์สามารถเชื่อมต่อด้วยสายได้เพื่อประกันความต่อเนื่องของงาน กรณีถ่านหมด หรือยิ่งไปกว่านั้นกรณีที่เปิดเครื่องมาแล้วพบปัญหาว่าอุปกรณ์ทั้ง 2 อย่างนี้ไม่สามารถเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ได้ผ่านบลูทูธ ไม่ว่าด้วยกรณีใดก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ออพติเพล็กซ์ 7070 อัลตร้า เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานทั่วไปที่มีการออกแบบที่โดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นความง่ายดายในการประกอบ ดูแลรักษา การอัพเกรดที่สะดวก ความประหยัดเนื้อที่ ตลอดจนรูปลักษณ์มืออาชีพ

เหมาะมากกับบรรดาสำนักงาน หรือผู้ที่คำนึงถึงทั้งประสิทธิภาพและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสภาพแวดล้อมทำงาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน