แอปเปิ้ลเผยโฉมไอโอเอส14 ปรับใหญ่ไอโฟน อัดฟีเจอร์ล้ำอื้อรับยุคโควิด

แอปเปิ้ลเผยโฉมไอโอเอส14 – วันที่ 23 มิ.ย. ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า แอปเปิ้ล เผยโฉมระบบปฏิบัติการไอโอเอส 14 พร้อมฟีเจอร์ล้ำยุค และเป้าหมายปรับปรุงผลิตภัณฑ์ใหม่หลายชนิด อาทิ ไอโฟน แอปเปิ้ล ว็อตช์ แอร์พ็อดส์ ไปจนถึงการหันมาพัฒนาชิพประมวลผลเองเพื่อใช้แทนหน่วยประมวลผล หรือซีพียู จากค่ายอินเทล ในไลน์อัพคอมพิวเตอร์แม็กอินทอช และแม็กบุ๊ก

แอปเปิ้ลเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวผ่านการนำเสนอทางรูปแบบถ่ายทอดสดผ่านไลฟ์สตรีมจากงาน Worldwide Developers Conference (WWDC) ซึ่งแอปเปิ้ลจัดเป็นประจำทุกปี

แอปเปิ้ลเผยโฉมไอโอเอส14

App Library – CNN

โดยงานดังกล่าวเป็นที่สนใจของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ และแวดวงไอที เพื่อทราบทิศทางการพัฒนาของแอปเปิ้ล ส่วนการถ่ายทอดไลฟ์สตรีมในปีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาปี 2019 หรือโควิด-19

ไลฟ์สตรีมดังกล่าวเริ่มต้นด้วยรายละเอียดของไอโอเอส 14 ระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่ของไอโฟน มาพร้อมฟีเจอร์ใหม่ เรียกว่า App Library ทำหน้าที่จัดเรียงแอพพลิเคชั่นของผู้ใช้บนหน้าจอโดยอัตโนมัติ ทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องลำบากเขี่ยเปลี่ยนจอหลายๆ ครั้ง เวลาหาแอพที่ต้องการ

ถัดมาเป็นวิธีการค้นหาและดาวน์โหลดแอพแบบใหม่ในไอโอเอส 14 เรียกว่า App Clips โดยระบบจะนำฟีเจอร์ที่จำเป็นของแอพนั้นๆ ที่ผู้ใช้ต้องการมาให้ใช้ก่อนในยามที่ไม่มีและต้องการใช้ด่วน เช่น เรียกรถรับจ้าง หรือสั่งอาหารจากร้านค้าที่ชื่นชอบ

ฟีเจอร์ดังกล่าวจะส่งผลให้ประสบการณ์การใช้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง (เสมือนมีแอพที่ยังไม่ได้โหลดอยู่ในเครื่อง) โดยหากต้องการใช้เพิ่มเติมผู้ใช้ค่อยดาวน์โหลดตัวเต็มมา นอกจากนี้ แอพที่สนับสนุนเทคโนโลยีดังกล่าวจะเชื่อมต่อกับ Apple Pay ด้วย

แอปเปิ้ลเผยโฉมไอโอเอส14

CarKey – CNN

ทางแอปเปิ้ลยังพยายามต่อยอดไอโฟนให้เป็นศูนย์รวมของชีวิตยุคดิจิตอลด้วย หลังไอโฟนยังคงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำรายได้ให้กับแอปเปิ้ลมากที่สุด นำไปสู่ฟีเจอร์อย่างการใช้ไอโฟนแทนบัตรเครดิตได้ มาหนนี้ทางแอปเปิ้ล เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่อีก เรียกว่า CarKey ที่จะทำให้ไอโฟนใช้แทนรีโมตกุญแจรถยนต์ที่สนับสนุนได้ เริ่มต้นที่ บีเอ็มดับเบิ้ลยู ซีรีส์ 5 (รุ่นปี 2021)

การถ่ายทอดผ่านไลฟ์สตรีมของแอปเปิ้ลที่ทำขึ้นเป็นครั้งแรกนั้นยังถูกทำให้น่าสนใจด้วยการใช้เทคนิคการเล่นกล้อง ไม่ว่าจะเป็นมุมการถ่าย เทคนิคการซูม และการถ่ายบรรยากาศหอประชุมบริเวณอาคารสำนักงาน ลานจอดรถของแอปเปิ้ลที่ไร้เงาผู้คนมาให้ชมกันด้วย

ทักทาย iOS 14 กันหน่อย

การนำเสนอฟีเจอร์ใหม่ต่างๆ ในไอโอเอส 14 ของแอปเปิ้ล สะท้อนว่าแอปเปิ้ลเป็นหนึ่งในเอกชนไม่กี่แห่งของโลกที่มีอิทธิพลต่อการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนทั่วไปจำนวนมาก

อัพเดทใหม่ที่ทางแอปเปิ้ลนำมาเสนอ ได้แก่ รูปแบบใหม่ของการสนทนาแบบกลุ่มในแอพส่งข้อความ iMessage ในจำนวนนี้ รวมถึงความสามารถในการปักหมุดการสนทนาที่สำคัญๆ ในกลุ่มแชทด้วย

แอปเปิ้ลยังแก้ไขปัญหาปวดเศียรเวียนเกล้าของผู้ใช้ไอโฟนด้วยกรณีที่กำลังใช้งานแล้วมีสายเรียกเข้า ส่งผลให้หน้าจอทั้งหมดถูกบดบังด้วยสายเรียกเข้าดังกล่าว มาคราวนี้สายเรียกเข้าจะกลายเป็นเพียงแถบอยู่ด้านบนของจอเท่านั้น (คล้ายๆ ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์)

ฟีเจอร์ Picture in Picture ยังได้รับการปรับปรุงใหม่ ทำให้ผู้ใช้สามารถรับชมคลิปวิดีโอได้อย่างต่อเนื่องหากเปลี่ยนแอพใช้งาน ยกตัวอย่าง เปลี่ยนไปใช้ iMessage ขณะชมคลิป ก็จะส่งผลให้คลิปย่อขนาดลงเป็นกรอบเล็กๆ โดยผู้ใช้สามารถเลื่อนหน้าต่างคลิปนี้ได้ไปทั่วจอ หรือเลือกซ่อน แต่ยังคงรับฟังเสียงในคลิปต่อไปก็ได้

ลางร้าย Intel แอปเปิ้ลหันพัฒนาซีพียูเอง

ภายในงาน WWDC ปีนี้ ทางแอปเปิ้ลยังประกาศจะหันไปพัฒนาหน่วยประมวลผลกลาง หรือซีพียูเอง เพื่อใช้ในคอมพิวเตอร์แม็กอินทอช และแม็กบุ๊ก ซึ่งเป็นไปตามข่าวลือในแวดวงไอทีก่อนหน้านี้ ว่าแอปเปิ้ลกำลังพยายามตีตัวออกห่างจาก อินเทล ผู้พัฒนาซีพียูชื่อดังในสหรัฐฯ

แอปเปิ้ล ระบุว่า การหันมาพัฒนาซีพียูเองจะทำให้คอมแม็กอินทอชมีประสิทธิภาพสูงขึ้นทั้งทางด้านการประมวลผลและการใช้พลังงาน

แอปเปิ้ลเผยโฉมไอโอเอส14

Apple Silicon และนายทิม คุก ซีอีโอแอปเปิ้ล – CNN

นักวิเคราะห์มองว่า การประกาศนี้ถือเป็นตะปูอีกดอกที่ตอกฝาโลงอินเทล หลังต้องเร่งพัฒนาซีพียูรุ่นใหม่ และเปลี่ยนมาใช้สถาปัตยกรรมการผลิตระดับ 7 นาโนเมตร (nm) เพราะเพลี่ยงพล้ำใหญ่หลวงให้กับคู่แข่งอย่าง เอเอ็มดี ซึ่งใช้สถาปัตยกรรมการผลิต 7 nm ได้ก่อน ทั้งยังมีจำนวนคอร์มากกว่าในราคาที่ต่ำกว่าทางฟากอินเทล

ล่าสุด เอเอ็มดี ยังประกาศแผนการเปลี่ยนไปใช้การสถาปัตยกรรมการผลิตระดับ 5 nm (AMD Zen-4) ในปี 2565 ส่วนอินเทลระบุว่า จะเปลี่ยนไปผลิตที่ 7 nm ได้อย่างเร็วที่สุดก็ปี 2564

ด้านซีพียูใหม่ของแอปเปิ้ล ตั้งชื่อว่า Apple Silicon ชิพนี้จะทำให้แอปเปิ้ลมีความสามารถในการควบคุมด้านการอัพเดทและประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้งานมากขึ้น โดยจะทำให้แอพต่างๆ สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างต่อเนื่องทั้งในไอโฟน ไอแพ็ด และเครื่องแม็ก

โดยทางแอปเปิ้ลเปิดตัวซอฟต์แวร์สำหรับผู้พัฒนาแอพต่างหากด้วย เพื่อช่วยเหลือผู้พัฒนาแอพในการปรับเปลี่ยนแอพที่สนับสนุนซีพียูของอินเทล มาให้รองรับกับ Apple Silicon แทน อย่างไรก็ดี นายทิม คุก ซีอีโอของแอปเปิ้ล ยืนยันว่า แอปเปิ้ลจะยังพัฒนาเครื่องแม็กที่ใช้ซีพียูอินเทลต่อ

ทิม คุก ระบุว่า แผนการพัฒนา Apple Silicon ของทางค่าย จะทำให้มีผลิตภัณฑ์เครื่องแม็กที่ใช้ซีพียูรุ่นใหม่เปิดตัวได้ในปลายปีนี้ โดยแผนการปรับเปลี่ยนจะใช้เวลาไม่เกิน 2 ปี

อัพเดท AirPods

หูฟังไร้สายอย่างแอร์พ็อดส์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากแอปเปิ้ลนั้นได้รับการปรับปรุงใหม่ด้วย โดยจะทำให้การเปลี่ยนอุปกรณ์เชื่อมต่อนั้นมีความต่อเนื่องมากขึ้น เช่น การรับฟัง พ็อดคาสต์ ในไอโฟน แล้วเปลี่ยนชมภาพยนต์จากไอแพ็ดได้ทันที จากนั้นเมื่อมีสายเรียกเข้ามาที่ไอโฟน แอร์พ็อดส์ จะเปลี่ยนไปรับสัญญาณจากไอโฟนได้ทันทีอีกเช่นกัน เป็นต้น

ขณะที่แอร์พ็อดส์ โปร จะมีฟีเจอร์ใหม่ เรียกว่า spatial audio ส่งผลให้จำลองเสียงแบบเซอร์ราวด์ได้ เพื่อเปิดประสบการณ์ฟังเหมือนอยู่ในโรงภาพยนตร์

ฟีเจอร์ยุคโควิด-19 ครองโลก

การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้ ยังได้รับการพิจารณาให้กลายเป็นหนึ่งในทิศทางการพัฒนาของแอปเปิ้ลด้วย อาทิ ระบบปฏิบัติการใหม่สำหรับแอปเปิ้ล ว็อตช์ อย่างว็อตช์โอเอส 7 จะมีการเตือนเรื่องล้างมือเข้ามาเพิ่มด้วย

แอปเปิ้ลเผยโฉมไอโอเอส14

WatchOS 7 – CNN

ระบบดังกล่าวจะเปิดขึ้นโดยอัตโนมัติเมื่อตรวจจับได้ว่าผู้สวมใส่อยู่ใกล้ซิงก์น้ำ ผ่านการตรวจจับเสียงน้ำที่สะท้อนจากซิงก์น้ำ และเมื่อผู้ใช้ล้างมือ ระบบก็จะนับเวลาให้ด้วย (ตามมาตรฐานการล้างมือ 20 วินาที จากองค์การอนามัยโลก หรือดับเบิ้ลยูเอชโอ) หากล้างมือไม่นานพอ แอปเปิ้ล ว็อตช์ จะรีบเตือนให้ล้างต่อไปอีก

นอกจากนี้ ยังมีฟีเจอร์ด้านการสื่อสารที่สะท้อนวิถีชีวิตนิวนอร์มอลของประชาคมโลกขณะนี้ เช่น Memoji จะปรากฎหน้ากากอนามัยด้วยหากผู้ใช้สวมใส่อยู่ เป็นต้น

“nutrition labels” ฉลากความเป็นส่วนตัว

รายงานระบุว่า ช่วงที่ผ่านมาแอปเปิ้ลยังพยายามสร้างจุดเด่นให้กับตัวเองด้วยการเป็นเอกชนไอทีที่ประกาศเรื่องการเอาใจใส่กับความเป็นส่วนตัวยุคดิจิตอลของผู้ใช้ โดยไอโอเอส 14 จะทำให้ผู้ใช้เลือกที่จะให้ข้อมูลตำแหน่งที่ตั้งแบบคร่าวๆ กับแอพได้ ตามสิทธิการปิดบังที่ตั้ง

ขณะที่ก่อนดาวน์โหลดแอพจาก App Store ผู้ใช้จะสามารถเห็นไฮไลท์การเก็บข้อมูลด้านต่างๆ ของแอพได้ชัดเจน โดยจะจัดทำเป็นลักษณะเหมือนฉลากสินค้า เรียกว่า ฉลากความเป็นส่วนตัว เพื่อบอกให้ผู้ใช้รับทราบว่า แอพดังกล่าว จัดเก็บข้อมูลด้านใด และขอบเขตเพียงใด ขณะที่ผุ้พัฒนาแอพทุกคนที่ได้รับการรับรองจากแอปเปิ้ลจะต้องรายงานฉลากดังกล่าวให้แอปเปิ้ลทราบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน