กาแล็กซีโน้ต20อัลตรา5จี – ซัมซุงสร้างชื่อมาตลอดกับ โน้ต ซีรีส์ ที่ได้คำชมว่าเป็นสมาร์ตโฟนดีที่สุดแบรนด์หนึ่งในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์

มาปีนี้เป็นคิวของ กาแล็กซี โน้ต 20 อัลตรา 5 จี จะยังรักษาความ เป็นหนึ่งนี้ได้หรือไม่ ทีมข่าวสดไอทีมีโอกาสทดลองใช้อยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ นำประสบการณ์ที่ได้รับมาเล่าสู่กันฟัง

เครื่องซัมซุง กาแล็กซี โน้ต 20 อัลตรา 5 จี (Samsung Galaxy Note 20 Ultra 5G) ที่ได้มารีวิวครั้งนี้เป็นสีบรอนซ์ มิสติก (Mystic Bronze) โดดเด่นที่สุดจากโทน มิสติกทั้งหมด 4 สี คือ เขียว เทา ดำ และบรอนซ์ เพราะเป็นสีคล้ายทองแดงอ่อนๆ สลับกับทองกุหลาบ

แม้มีขอบอะลูมิเนียมประกบด้วยกระจก Gorilla Glass Series แต่สีบรอนซ์ มิสติก มีด้านหลังที่แลดูคล้ายโลหะด้าน แต่ในความเป็นจริงแล้วทางซัมซุงใช้กระจก Gorilla Glass Victus รุ่นใหม่ล่าสุดจากค่ายคอร์นนิง สหรัฐอเมริกา ทั้งยังได้รับการออกแบบให้มีความเงาน้อยลงจนแทบไม่ดึงดูดลายนิ้วมืออีกต่อไป

จุดเด่นที่เตะตาที่สุดด้านหลังหนีไม่พ้นโมดูลกล้องถ่ายภาพ มีความโดดเด่นเป็นพิเศษกว่าสมาร์ตโฟนทั่วไปมาก แม้ตัวโมดูล จะมีขนาดใหญ่มหึมา และยื่นออกมาจากตัวเครื่องค่อนข้างมากจนบางครั้งฝุ่นอาจเกาะตามร่องเล็กๆ ของโมดูล และไม่วางเครื่องราบไปกับพื้นไม่ได้

แต่ทางซัมซุงชดเชยข้อนี้ได้ด้วยการออกแบบที่ตระการตาเริ่มตั้งแต่ขอบโค้งเว้า การจัดเรียงเลนส์ทั้ง 3 ชิ้น แฟลชแอลอีดี และเลเซอร์โฟกัส โดยมีขอบของเลนส์เป็นสีบรอนซ์ มิสติก กลางโมดูลสีทะมึน สร้างคอนทราสต์การออกแบบทางสีที่น่าชื่นชม เพราะดูสวยงามมากทีเดียว

อย่างไรก็ดี ด้านหลังของเครื่องที่เป็นกระจกพ่นสีแบบด้านนั้นพบว่าหากมือแห้งๆจะมีความลื่นมากกว่ากระจก Gorilla Glass Series ก่อนหน้า แต่หากมือชื้นๆ แล้วไม่พบปัญหาการลื่นหลุดจากมือการวางไว้บนพื้นราบไม่ลื่นไถล เพราะโมดูลกล้องที่ช่วยเพิ่มความฝืด แต่หากวางด้วยด้านหน้าที่เป็นกระจกนั้นแน่นอนว่าไถล ซึ่งไม่ควร เพราะเสี่ยงเป็นรอยและอาจตกแตกได้

กาแล็กซี โน้ต 20 อัลตรา 5 จี มีถาดใส่ซิมสนับสนุน 2 ซิม หรือ 1 ซิม กับการ์ดหน่วยความจำเสริม microSDXC อยู่ที่ขอบบน ปุ่มเปิด-ปิด และปรับระดับเสียงอยู่ที่ขอบขวาเมื่อหันจอเข้าหาผู้ใช้ ส่วนขอบล่างเป็นที่อยู่ของปากกา S pen ลำโพง และช่อง USB-C จากซ้ายไปขวา

มาถึงจุดนี้สาวกโน้ตซีรีส์อาจจะเริ่มแปลกใจ เพราะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโน้ตซีรีส์ เนื่องจากปกติแล้วโน้ตซีรีส์จะมีปุ่มเรียงอยู่ที่ขอบซ้าย และปากกา S pen ที่ขอบขวา ตรงกันข้ามกับกาแล็กซี เอส ซีรีส์ จุดนี้เองที่อาจทำให้ผู้ใช้ที่คุ้นเคยกับโน้ตซีรีส์ต้องปรับตัวสักเล็กน้อย

เช่นเดียวกันกับผู้ทดสอบที่ถนัดขวาและเคยชินกับการถือเครื่องไว้ในมือซ้าย ปุ่มที่ย้ายจากขอบซ้ายไปขวาพบว่าไม่ได้รู้สึกอึดอัดเท่ากับปากกา S pen ที่ปกติอยู่มุมขวา พอปากกาไปอยู่มุมซ้ายแล้วรู้สึกเอาออกเอาเข้าไม่สะดวก ขัดใจยังไงพิกล เดาว่าซัมซุงต้องการให้การออกแบบระหว่าง เอส กับโน้ต ซีรีส์ มีเอกภาพมากขึ้น

ความโดดเด่นถัดมาเป็นจอภาพ Dynamic AMOLED 2X มีขนาด 6.9 นิ้ว ความละเอียดสูงสุด 3,088 x 1,440 พิกเซล (QHD+) ความหนาแน่นพิกเซล 496 พิกเซลต่อตารางนิ้ว (ppi) มีอัตราส่วนพื้นที่จอภาพต่อตัวเครื่องร้อยละ 91.7 สนับสนุนเทคโนโลยีภาพแบบ HDR10+ และความถี่สูงสุดที่ 120 เฮิร์ตซ์ (Hz) บนความละเอียด FHD และ 60 Hz บนความละเอียด QHD+

ตัวเครื่องมีขนาดกว้าง 77.2 ยาว 164.8 หนา 8.1 มิลลิเมตร ถือว่ามีขนาดและสเป๊กแทบจะเหมือนกันกับสมาร์ตโฟนเรือธงต้นปีของค่ายอย่างซัมซุง กาแล็กซี เอส 20 อัลตรา 5 จี (Samsung Galaxy S20 Ultra 5G) และใหญ่ขึ้นกว่ากาแล็กซี โน้ต 10 พลัส เมื่อปีที่แล้วเล็กน้อย

ขณะที่ความสว่างวัดได้ถึง 1,500 นิต เป็นจอภาพที่คมชัด สว่างไสว สีสันฉูดฉาด ดีที่สุดในสมาร์ตโฟนชั่วโมงนี้ ส่วนขอบที่โค้งเล็กน้อยทำให้การรับชมคอนเทนต์เต็มจอนั้นแลดูมีมิติน่าตื่นตาตื่นใจ แลกกันกับการที่ผู้ทดสอบพบว่าทำให้นิ้วเผลอไปแตะจอบ่อยหากไม่ระวังให้ดี ซึ่งไม่ใช่ปัญหาใหญ่กับผู้ทดสอบเท่าใด แต่ทราบดีว่าบางคนก็ชอบแบบจอไม่โค้ง

แฟ็บเล็ตเรือธงรุ่นใหม่นี้ใช้ขุมพลังจากชิพประมวลผล (SoC) รุ่น Samsung Exynos 990 เป็น SoC ที่ใช้สถาปัตยกรรมการผลิตแบบ 7 นาโนเมตร พลัส (7 nm+) ภายในประกอบด้วยหน่วยประมวลผลกลาง (CPU) แบบ 8 หัว (Octa-core) แบ่งเป็น 3 คลัสเตอร์ ได้แก่ ความถี่สัญญาณนาฬิกา 2.73 กิกะเฮิร์ตซ์ (GHz) จำนวน 4 คอร์ ความถี่ 2.50 GHz จำนวน 2 คอร์ และความถี่ 2.00 GHz อีก 2 คอร์

หน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) รุ่น Mali-G77 หน่วยความจำแรม (RAM) 12 กิกะไบต์ (GB) พื้นที่เก็บข้อมูลภายใน (ROM) มี 3 ขนาด ได้แก่ 128, 256 และ 512 GB บนมาตรฐานอัตราการส่งข้อมูล UFS 3.0 (อ่าน 2,100 MB/s เขียน 410 MB/s) ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 10 จากกูเกิ้ล ซึ่งแน่นอนว่าที่สเป๊กระดับนี้ถือว่าสามารถรันแอพพลิเคชั่นได้ทุกชนิดอย่างรวดเร็ว และเล่นเกมกราฟิกสูงได้อย่างไม่ต้องกังวล

แต่แฟ็บเล็ตรุ่นนี้ออกแบบมาให้มีความพิเศษที่สุดเป็นระบบสไตลัสผ่านปากกา S pen ที่เพิ่มความไวต่อการตอบสนองของปากกาจากเดิมภายใน 42 มิลลิวินาที (ms) ลดลงเหลือ 9 ms ทำให้ประสบการณ์การใช้งานนั้นยอดเยี่ยมขึ้นอย่างมาก แทบจะเหมือนการเขียนจริงๆ ทั้งยังมีเสียงขีดเขียนให้ได้ยินเพิ่มอรรถรส (ปิดได้) จนรู้สึกว่าในที่สุด S pen ก็เขียนได้เยี่ยมพอๆ กับ Pencil ของแอปเปิ้ลแล้ว

แน่นอนว่าปากกา S pen ยังคงมีฟีเจอร์ไม้กายสิทธิ์เหมือนเดิมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการตวัดด้วยท่วงท่าต่างๆ หรือการใช้กดเป็นรีโมตควบคุมกล้องถ่ายภาพ (สามารถตั้งค่าได้) แม้ส่วนตัวผู้ทดสอบยอมรับว่าไม่ค่อย ได้ใช้ก็ตาม

ถัดมาเป็นกล้องถ่ายภาพของกาแล็กซี โน้ต 20 อัลตรา 5 จี นับว่าดีกว่าที่ผู้ทดสอบคาดไว้มาก ได้แก่ เลนส์หลักความละเอียด 108 ล้านพิกเซล (MP) เลนส์ซูมความละเอียด 12 MP สามารถซูมแท้ได้สูงสุด 5 เท่า และซูมแบบดิจิตอลสูงสุด 50 เท่า

รวมถึงเลนส์อัลตราวายความละเอียด 12 MP และกล้องเซลฟี่ด้านหน้าความละเอียด 10 MP ล้วนให้ภาพที่ออกมาคมชัดเปล่งปลั่งแทบทุกสภาพอากาศรวมถึงกลางคืนด้วย โดยเฉพาะภาพซูมที่มีรายละเอียดน่าประทับใจ แม้จะซูมดิจิตอลได้น้อยลงกว่ารุ่น เอส 20 อัลตรา 5 จี (100 เท่า) แต่ซัมซุงหันมาให้ความสนใจเรื่องคุณภาพการซูมมากขึ้นแทน

โดยรวมเรียกว่าเป็นกล้องถ่ายภาพที่ดีมากรอบด้าน ขณะที่การถ่ายคลิปนั้นได้สูงสุดที่ความละเอียด 8K ในอัตรา 24 เฟรมต่อวินาที (fps) มีระบบกันสะเทือนที่ยอดเยี่ยมด้วย แต่ยังคงพบอาการ Lag ของการกดถ่ายภาพอยู่ ซึ่งเป็นปัญหาที่เป็นมาตั้งแต่รุ่นเอส 20 อัลตรา 5 จี

อย่างไรก็ตาม น่ายินดีที่ซัมซุงแก้ปัญหาใหญ่กว่านั้นได้แล้วคือ ระบบออโต้โฟกัสที่ออกอาการมึนๆ ในรุ่นก่อนหน้า มาเที่ยวนี้ทางซัมซุงเปลี่ยนจากเซ็นเซอร์ไทม์-ออฟ-ไฟลต์ (TOF) มาเป็นการโฟกัสด้วยเลเซอร์ ช่วยแก้ปัญหาได้โฟกัสช้าและผิดจุดได้ชะงัด

ด้านแบตเตอรี่ เป็นที่น่าแปลกใจเพราะกาแล็กซี โน้ต 20 อัลตรา 5 จี มีขนาดแบต 4,500 มิลลิแอมป์ชั่วโมง (mAh) เล็กลงกว่ารุ่นเอส 20 อัลตรา 5 จี (5,000 mAh) แต่ก็ใหญ่ขึ้นกว่าโน้ต 10 พลัส (4,300 mAh) อย่างไรก็ตาม การทดสอบพบผ่านระบบ 4 จี

พบว่าระยะเวลาการใช้งานนั้นสามารถอยู่ได้ทั้งวันแม้จะใช้งานหนักหน่วงก็ตาม และอาจอยู่ได้ข้ามวันหากใช้งานเบาๆ ทั่วไป แม้โน้ต 20 อัลตรา 5 จี จะไม่ใช่สมาร์ตโฟนที่แบตฯ อึดทนที่สุดของซัมซุงอีกต่อไปแล้ว แต่ยังถือว่าอยู่เกณฑ์ยอดเยี่ยมทีเดียว

ที่น่าแปลกใจที่สุดคือ เทคโนโลยีการชาร์จของโน้ต 20 อัลตรา 5 จี รองรับผ่านสายเพียง 25 วัตต์ (W) และ 15 W แบบไร้สาย ทั้ง Qi และ PMA ไม่เหมือนกับโน้ต 10 พลัส และเอส 20 ซีรีส์ ที่รองรับผ่านสายถึง 45 W ส่งผลให้โน้ต 20 อัลตรา 5 จี ใช้เวลาในการชาร์จมากกว่าอยู่ที่ราว 1 ชั่วโมง 15 นาที โดยทางซัมซุงแถมชาร์จเจอร์ขนาด 25 W มาให้

ฟีเจอร์เรือธงของซัมซุง ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานกันน้ำกันฝุ่น IP68 รองรับ Wi-Fi 6 และการเปลี่ยนตัวเองเป็นเพาเวอร์แบงก์ชาร์จไร้สาย (Reverse wireless charging) สแกนลายนิ้วมือใต้จอระบบอัลตราโซนิกที่มีความไวและแม่นยำขึ้น

การเชื่อมต่อกับจอภาพ หรือคอมพิวเตอร์พีซีเพื่อเปลี่ยนเป็นการทำงานคล้ายบนวินโดว์สผ่าน Samsung DEX ยังมีมาครบ และลูกเล่นใหม่ๆ เช่น Nearby Share ที่ทำให้การแชร์ไฟล์กับเครื่องใกล้ๆ ง่ายขึ้น เป็นต้น

มีเพียงจุดเดียวที่ผู้ทดสอบมองว่าอ่อนที่สุดคือ ลำโพงของโน้ต 20 อัลตรา 5 จี ที่แม้เสียงค่อนข้างดัง แต่คุณภาพเสียงน่า จะดีได้กว่านี้

สรุปแล้ว กาแล็กซี โน้ต 20 อัลตรา 5 จี เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของตระกูลโน้ต ซีรีส์ ไม่ว่าจะเป็นด้านการออกแบบ ที่เปลี่ยนมามีความเป็นเอกภาพมากขึ้นกับเอสซีรีส์ และการหันมาให้ความสำคัญกับประสบการณ์การใช้มากขึ้นกว่าการมุ่งให้โน้ต ซีรีส์ นั้นเป็นสุดยอดด้านสเป๊ก (บนกระดาษ) แบบที่ผ่านมา

ด้วยราคาที่เริ่มตั้งแต่ 38,900 ถึง 46,900 บาท ย่อมถือว่าเป็นแฟ็บเล็ตระดับพรีเมียมที่ผู้ซื้อมั่นใจได้ว่าจะได้ครอบครองทุกสิ่งที่ดีที่สุดจากค่ายซัมซุงแน่นอน

โดย…จันท์เกษม รุณภัย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน