รีวิวเอซุสเซ็นบุ๊กดูโอ – เซ็นบุ๊ก ดูโอ จากทางเอซุส ผู้พัฒนาเทคโนโลยีชื่อดังจากไต้หวัน กลับมาสร้างความฮือฮาให้แวดวงไอทีอีกครั้งด้วยภาคต่อโน้ตบุ๊ก 2 จอ ยกระดับไปอีกขั้น

เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ได้รับรางวัลด้านนวัตกรรมดีเด่นในงานจัดแสดงเทคโนโลยีผู้บริโภค หรือซีอีเอส 2021 เมื่อต้นปีมาหมาดๆ ตอกย้ำความเป็นผู้นำทางด้านยอดขายโน้ตบุ๊กในประเทศไทย และอันดับหนึ่งของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

สำหรับเครื่องที่ข่าวสดไอทีทดลองใช้เป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ เป็นรุ่น เอซุส เซ็นบุ๊ก ดูโอ (ASUS ZenBook Duo) 14 UX482E สีฟ้า Celestial Blue เป็นรุ่นซึ่งต่อยอดมาจากน้องเล็กของ เอซุส เซ็นบุ๊ก โปร ดูโอ

ความแตกต่างกันระหว่างรุ่นน้องเล็ก กับรุ่นโปรนั้นหลักๆ เป็นจอภาพ OLED ความละเอียดจอภาพ 4K หน่วยประมวลผลกลาง และประสิทธิภาพกราฟิก รุ่นท็อปของปีนี้

ทางเอซุสใช้ชื่อว่า เอซุส เซ็นบุ๊ก ดูโอ 15 UX582

มุ่งมั่นออกแบบเพื่อตอบโจทย์การใช้งานครอบคลุมทั้งทำงานและความบันเทิง เช่น การชมภาพยนตร์ และเล่นเกมได้ในระดับที่ดี แต่จุดเด่นที่สุดนั้นเป็นการทำงานออกแบบระดับมืออาชีพ อย่างการตกแต่งภาพ และตัดต่อวิดีโอ จึงเหมาะกับสายคอนเทนต์ครีเอเตอร์มากกว่าเกมเมอร์

โดยเฉพาะรุ่น UX482E เล่นเกมได้ยอดเยี่ยมกว่ามาก เพราะมีตัวเลือกด้านกราฟิกถึง Nvidia GeForce RTX 3070

แต่แน่นอนว่าราคาค่าตัวก็จะโหดเหี้ยมยิ่งกว่าเจ้าน้องเล็ก UX482 ที่สนนราคาอยู่ที่ราว 4 หมื่นบาท ผู้สร้างคอนเทนต์และเล่นเกมไม่ต้องปรับกราฟิกสูงสุด เพียงรุ่นนี้ก็ถือว่าเหลือกินแล้ว

ภายในกล่อง เอซุสแถมสายชาร์จพร้อมอะแด็ปเตอร์ แผ่นรองอเนกประสงค์ กระเป๋าสะพายหลัง คู่มือ และปากกา เอซุส เพ็นใหม่ เป็นสไตลัสรุ่นที่สองของเอซุส มีความไวต่อแรงกด 4,096 ระดับ ตัวปากกามีความอ้วนขึ้นมากกว่ารุ่นก่อนทำให้จับได้ง่าย จากการทดสอบพบว่า เขียนได้ไวเป็นธรรมชาติมากขึ้นจนใกล้เคียงกับแอปเปิ้ล เพนซิล แต่ปากกาใหม่นี้ไม่มีที่หนีบกระเป๋าเหมือนรุ่นแรก และต้องใส่ถ่านขนาด AAA จำนวน 1 ก้อน (แถมมาด้วย)

การออกแบบภายนอกของเครื่องนั้นดูผิวเผินแล้วมีความบางคล้ายอัลตร้าบุ๊ก แทบไม่น่าเชื่อว่ามีฟีเจอร์ล้นเหลือ ตั้งแต่สเป๊กแรง จอภาพ 2 จอ ระบบการระบายความร้อนรูปแบบใหม่ และลำโพงที่ให้เสียงดังกังวาลไพเราะน่าประทับใจ ผ่านการปรับแต่งเสียงจากค่าย harman/kardon ที่สหรัฐอเมริกา บริษัทลูกของซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ แห่งเกาหลีใต้

เซ็นบุ๊ก ดูโอ 14 รุ่นใหม่นี้ มีขนาดกว้าง 22 ยาว 32.40 และบางเพียง 1.69 เซนติเมตร น้ำหนัก 1.62 กิโลกรัม เรียกได้ว่าผิดหูผิดตาเมื่อเทียบกับรุ่นแรกที่เคยหนักถึง 2.4 กิโลกรัม และหนากว่า 2.2 ซ.ม. ขณะที่วัสดุภายนอกนั้นตัวฝาเป็นแผ่นอะลูมิเนียมลวดลายวนแบบ spun metal finish พร้อมโลโก้เอซุส ตามเอกลักษณ์ของค่าย

ตัวฐานเครื่องนั้นทำจากโลหะผสมแมกนีเซียม อัลลอย ซึ่งเป็นวัสดุที่มีจุดเด่นที่น้ำหนักเบา แต่มีความแข็งแรง และยังให้ความรู้สึกหรูหราแตกต่างจากพลาสติก ผ่านการทดสอบตามมาตรฐานความคงทน MIL-STD 810H ของกองทัพสหรัฐฯ เช่น ความชื้น สั่นสะเทือน ความสูง อุณหภูมิต่ำ-สูงสุดขั้ว และการตกกระแทก

การเชื่อมต่อมี MicroSD card reader, Audio jack และ USB 3.2 Gen 1 จำนวน 1 ช่อง พร้อมไฟบอกสถานะพลังงาน และการทำงานที่ขอบด้านขวา HDMI 1.4, Thunderbolt 5 USB-C จำนวน 2 ช่อง ที่ขอบด้านซ้าย รองรับสัญญาณบลูทูธ และไว-ไฟ 6 แต่ผู้ทดสอบพบว่า ช่องเชื่อมต่อค่อนข้างจำกัด หากมีอุปกรณ์เชื่อมต่อที่ไม่ใช้ USB-C หลายชิ้น และทางเอซุสก็ไม่ได้แถมอะแด็ปเตอร์เพิ่มช่องเชื่อมต่อ USB มาให้ แต่ทำให้ช่องเชื่อมต่อน้อยลงไปอีกหากใช้งานแบบเสียบสาย

แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยเมื่อหันไปมองการออกแบบทางวิศวกรรมอันน่าทึ่งในโน้ตบุ๊กรุ่นนี้ นั่นคือ หน้าจอที่สองของเครื่องที่อยู่เหนือสุดของฐานเครื่องจะยกตัวขึ้นเข้าหาผู้ใช้เมื่อเปิดผาเครื่อง สอดรับกับฟีเจอร์ด้านกายศาสตร์ที่ทำให้สันของฝาเครื่องดันให้เครื่องยกสูงขึ้นเข้าหาผู้ใช้อีกต่อหนึ่ง (ErgoLift)

ยังไม่หมดเท่านั้น ใต้จอภาพที่สองที่ยกตัวขึ้นมานั้นก่อให้เกิดช่องว่าง ซึ่งทางเอซุสออกแบบระบบระบายความร้อนแบบใหม่ โดยนำพัดลมดูดอากาศเย็นไว้ใต้จอ แล้วนำแผงระบายความร้อนมาไว้ที่สันของฐานเครื่องด้านในพ่นอากาศร้อนผ่านจอภาพหลักขึ้นไป

การออกแบบลักษณะนี้ทำให้อากาศไหลเวียนได้มากขึ้นถึงร้อยละ 49 โดยจากการทดสอบใช้งานไม่พบปัญหาเรื่องความร้อน แต่เสียงของลมค่อนข้างดังชัดเจน เรียกว่าได้อย่างเสียอย่าง

เซ็นบุ๊ก ดูโอ รุ่นใหม่นี้มีหน้าจอหลัก IPS LCD ขนาด 14 นิ้ว ความละเอียดแบบ Full HD (1,920 x 1,080 พิกเซล) และหน้าจอรอง (ScreenPad Plus) ขนาด 12.65 นิ้วความละเอียด 1,920 x 515 พิกเซล โดยทั้งสองจอมีความสว่างสูงสุด 400 นิต และรองรับระบบสัมผัส ทำให้จอนั้นแลดูเท่าเทียมกัน ต่างจากรุ่นก่อนที่จอรองนั้นมีความสว่างและสีสันฉูดฉาดไม่เท่าจอหลัก

อย่างไรก็ดี ผลของการมีจอที่สองทำให้แป้นพิมพ์ต้องเลื่อนลงมาจนชิดขอบด้านล่างของฐานเครื่อง โดยทางเอซุสนำทัชแพ็ดไปไว้ด้านขวาแทน ผู้ใช้บางคนน่าจะไม่ชิน เพราะไม่มีที่วางข้อมือ โดยเฉพาะการนำมาพิมพ์งานบนตักทำได้ไม่สะดวกนัก เพราะต้องหดแขนเข้ามาจนชิดลำตัวทำให้เมื่อย คิดว่าเหมาะกับการวางบนโต๊ะและใช้งานมากกว่า

จึงไม่แนะนำสำหรับผู้ชอบพิมพ์งานบนตัก ถือว่าน่าเสียดาย เพราะแป้นพิมพ์ของรุ่นนี้นั้นถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม ตอบสนองว่องไว ระยะห่างพอเหมาะ และไม่แข็งเกินไป เช่นเดียวกันกับทัชแพ็ดที่มีความไวสูง แต่แคบไปเล็กน้อย ถือเป็นข้อจำกัดที่ต้องแลกมากับการมีจอรอง หากเป็นกลุ่มผู้ใช้ด้านกราฟิกน่าจะดีกว่าประเภทที่ต้องนั่งพิมพ์งานปริมาณมากๆ

ด้าน UX482E ทำงานบนระบบปฏิบัติการ Microsoft Windows 10 ด้วยขุมพลังจาก Intel Core i7-1165G7 เป็นหน่วยประมวลกลาง หรือซีพียู นับเป็นรุ่นที่ 11 จากค่ายอินเทล ภายใต้รหัสการพัฒนา Tiger Lake ใช้สถาปัตยกรรมการผลิตขนาด 10 นาโนเมตร เปิดตัวไปเมื่อไตรมาสที่สามของปี 2563 เป็นซีพียูแบบ 4 คอร์

ติดตั้งเทคโนโลยี ไฮเปอร์-เธรดดิ้ง ใช้งานได้ 8 เธรด (เทียบเท่า 8 คอร์) ความถี่สัญญาณนาฬิกาเทอร์โบ 4.70 กิกะเฮิร์ซ (GHz) หน่วยความจำแรม DDR4 สูงสุด 32 กิกะไบต์ (GB) แบบดูอัล-แชนแนล หน่วยประมวลผลกราฟฟิก หรือจีพียูรุ่น Nvidia GeForce MX450 (หรือเลือกเป็นจีพียูออนบอร์ดรุ่น Intel Iris Xe) พื้นที่เก็บข้อมูลสูงสุด 1 เทราไบต์ (TB) แบบ SSD บนอินเตอร์เฟซ PCI-E

ผลการทดสอบการใช้งานทั่วไปนั้นทำงานตอบสนองได้รวดเร็วตั้งแต่การเปิด-ปิดเครื่อง แสตนด์บาย และรันโปรแกรมสร้างคอนเทนต์ต่างๆ ได้ทันใจ เช่นเดียวกันกับด้านบันเทิงอย่างชมภาพยนตร์ จอภาพมีความสว่างเพียงพอในที่โล่งแจ้ง ลำโพงเสียงดังกังวาล เบสชัด กลางเด่น สูงหวานไม่บาดหู เวทีเสียงไม่คับแคบอึดอัด

ส่วนเกม เล่นได้ดีที่ราว 30-45 เฟรมต่อวินาที (กราฟฟิกปานกลาง) ไม่ว่าจะเป็น Cyberpunk 2077, Resident Evil 3, Shadow Of The Tomb Raider, Two Point Hospital และ Genshin Impact เกมกาชาสไตล์อนิเมะสุดฮิตขณะนี้

ความประทับใจส่งท้ายรีวิวนี้เป็นระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ โดยการทดสอบใช้งานทั่วไปที่ความสว่างหน้าจอหลักและรอง อยู่ได้นานถึง 11 ชั่วโมงครึ่ง ถือเป็นความสำเร็จทางด้านการบริหารจัดการพลังงานที่ยอดเยี่ยมในโน้ตบุ๊กที่มีจอแสดงผลถึง 2 จอ และพัฒนาต่อยอดมาไกลโขเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้าที่มีระยะเวลาใช้งานไม่ถึง 6 ช.ม.

สรุปแล้วเซ็นบุ๊ก ดูโอ 14 รุ่นใหม่นี้เป็นภาคต่อที่ยอดเยี่ยมของโน้ตบุ๊ก 2 จอจากเอซุส ไม่ว่าจะเป็นฟีเจอร์ล้ำสมัย สเป็กสมดุลครอบคลุมการใช้งาน นวัตกรรมแปลกใหม่ ผสานกับดีไซน์หรูหราเท่สะดุดตา แม้ยังไม่ใช่โน้ตบุ๊ก 2 จอที่สมบูรณ์แบบไปเสียทุกเรื่อง แต่โดยรวมแล้วถือว่าคุ้มค่ากับราคาค่าตัว 4 หมื่นบาท

เหมาะกับผู้นักสร้างคอนเทนต์ทั้งหลายที่ชอบพกเครื่องไปวางใช้งานตามที่ต่างๆ วางจำหน่ายแล้วในประเทศไทย

จันท์เกษม รุณภัย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน