พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ที่ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อแก้ปัญหาทีวีดิจิตอล เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการประกอบธุรกิจ โดยจะออกมาตรา 44 อีก 1-2 วันนี้

มาตรการช่วยเหลือ ดังนี้คือ 1. อนุญาตให้พักชำระหนี้ได้ 3 งวดจาก 6 งวดที่มีการยืดหนี้ให้ไปก่อนหน้านั้น คือจากเดิมเหลือค้างชำระอยู่ปีประมาณ 5 งวด คือ จ่ายทุกเดือนพ.ค. ของปี 2561-65 แต่ระหว่างพักชำระหนี้ต้องจ่ายดอกเบี้ย 1.5%

2. ลดค่าโครงข่าย (มัค) ลง 50% เป็นเวลา 2 ปี โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะจ่ายให้ 50% และบริษัทเจ้าของใบอนุญาตยังต้องจ่ายอีก 50% และ 3. อนุญาตให้มีการโอนใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ได้ แต่การโอนใบอนุญาตจะโอน เมื่อไหร่ อย่างไร ต้องหารือกับ กสทช.ก่อน

“การใช้ม.44 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลครั้งนี้ ได้มีการหารือกันระหว่าง คสช. กสทช. ผู้ประกอบการ และ ทีดีอาร์ไอ มาแล้ว 3 รอบ ผลการหารือทั้ง 3 รอบ ทุกฝ่ายเห็นชอบ 3 แนวทางนี้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาทีวีดิจิตอลที่ประสบปัญหาอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์รัฐบาลไม่เสียหาย ถือว่าเป็นการช่วยเหลือตามความจำเป็น ในเหตุและผลพอเหมาะพอสม ส่วนเรื่องโทรคมนาคมเป็นเรื่องที่มีเนื้อหาสาระที่แตกต่างจากทีวีดิจิตอลยังไม่ได้ข้อสรุป”

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า หากย้อนกลับไปถึงช่วงประมูลคลื่นเมื่อปี 2556 ในขณะนี้มีบริษัทจำนวนมากที่ประสงค์เข้าประมูลแข่งขันเพื่อเป็นเจ้าของใบอนุญาต แต่เมื่อดำเนินการตามกรรมวิธีเลือกบริษัทที่เข้าประมูลในช่วงธ.ค. 2556 เหลือบริษัทที่สนใจจำนวน 24 บริษัท ต่อมาก็ถอนตัวไปอีก 2 บริษัท จนเหลือ 22 บริษัท ที่ยื่นประมูลและได้เป็นเจ้าของคลื่น ซึ่งทั้ง 22 บริษัทที่มีการประมูลแข่งขันการประกอบกิจการ มาถึงปัจจุบันเกิดปัญหารายได้ไม่เป็นไปตามคาดหวัง

ส่งผลให้มีผู้ประกอบการจำนวน 13 บริษัท มีหนังสือร้องขอมาถึงนายกรัฐมนตรี บางส่วนก็ส่งหนังสือไปยัง คสช. ขอให้ รัฐบาลคสช. ช่วย ส่วนบริษัทที่ไม่ได้เสนอขอความช่วยเหลือเข้ามา ถามว่าเดือดร้อนไหม เชื่อว่าเดือดร้อนแต่ไม่ได้ร้องขอ

สำหรับใบอนุญาตทีวีดิจิตอลมีอายุ 15 ปี การจ่ายค่าใบอนุญาตกำหนดไว้ 6 งวดตั้งแต่ปี 2557 ถึงปี 2562 อายุใบอนุญาต งวดที่ 1, 2, 3 ชำระไปแล้ว เหลืองวด 4, 5, 6 ผู้ประกอบการเดือดร้อนจึงขอความช่วยเหลือเข้ามา ที่ผ่านมา คสช. ได้ยืดหนี้ให้งวดที่เหลือ 3 งวด ให้แบ่งจ่ายเป็น 6 งวด จากเดิมจะสิ้นสุดปี 2562 ให้ชำระสิ้นสุดงวดสุดท้ายพ.ค. 2565 เพื่อให้การจ่ายแต่ละงวดที่น้อยลง จะได้มีสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจ และเมื่อยืดหนี้ให้เป็น 6 งวดส่งผลให้การชำระค่างวดเพิ่มเป็น 9 งวด ผู้ประกอบการจึงจ่ายงวดที่ 4 และเหลือค้างค่างวดอีก 5 งวด

เมื่อรัฐบาลมีการช่วยเหลือไปแล้วในการยืดเวลาชำระหนี้จาก 3 งวดที่เหลือเป็น 6 งวดเมื่อจ่ายงวดเดือนพ.ค. 2560 ไปแล้ว ผู้ประกอบการ ออกมาร้องขอความช่วยเหลือระบุว่า ไม่มีเงินจ่าย โดยได้นำตัวเลขทางวิทยาศาสตร์มายืนยันว่า ในการประมูลปี 2556 ราคาประมูลอย่างต่ำของทุกช่องรวมกันน่าจะอยู่ประมาณ 15,000 ล้านบาทกว่าๆ แต่ด้วยการแข่งขันที่สูงทำให้ราคาประมูลสูงไปถึง 50,000 ล้านบาทกว่า สูงกว่าราคาที่ตั้งไว้สูงมาก และการชำระค่าใบอนุญาตครั้งที่ 1-3 ทำให้กสทช. ได้เงินไปแล้ว 33,000 ล้านบาท ผู้ประกอบการขอไม่จ่ายในงวดที่เหลือที่ยังค้างอยู่ 17,000 ล้านบาท

“ผู้ประกอบการยังระบุว่า ที่ผ่านมาในการประมูลในอนุญาตการแข่งขันค่อนข้างสูงผิดปกติและพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่บริโภคสื่อโซซี่ยลมากขึ้น การหาโฆษณาค่อนข้างยากและก่อนการประมูล กสทช. มีการกำหนดรายละเอียดที่ต้องกำหนดหลายประการแต่ยังทำไม่สำเสร็จ ทำไม่สมบูรณ์ ดังนั้นจึงขอความช่วยเหลือในสิ่งที่เสนอมาคือการขอไม่ชำระ 5 งวดที่เหลือ ซึ่งจากการหารือทั้ง 3 รอบของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าเมื่อปัญหาเกิดขึ้นจำเป็นต้องมีการช่วยเหลือแต่ต้องช่วยเหลืออย่างไรเพื่อไม่ให้กระทบกับระบบเศรษฐกิจ รัฐต้องไม่เสียประโยชน์จนเกินไป”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน