น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การจัดเก็บรายได้รัฐบาลช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2561 (ต.ค. 2560-มี.ค. 2561) มีจำนวน 1.07 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 3.8 หมื่นล้านบาท สาเหตุจากการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นสูงกว่าเป้าหมาย 1.66 หมื่นล้านบาท และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ สูงกว่าเป้าหมาย 1.01 หมื่นล้านบาท ด้านภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และภาษีรถยนต์ ที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 6,059 5,947 และ 4,898 ล้านบาท ตามลำดับ

“การจัดเก็บรายได้ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2561 ยังคงสูงกว่าเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ และภาษีที่จัดเก็บจากฐานรายได้ของผู้ประกอบการยังคงขยายตัวได้ดี ซึ่งเป็นการสะท้อนภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สำหรับในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ กระทรวงการคลังคาดว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้”น.ส.กุลยา กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเก็บภาษีของกรมสรรพากร จัดเก็บได้ 7.69 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 2,420 ล้านบาท โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มต่ำกว่าเป้าหมาย 1.12 หมื่นล้านบาท และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 2,213 ล้านบาท

ขณะที่กรมสรรพสามิต จัดเก็บภาษีได้ 2.68 แสนล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2,925 ล้านบาท โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีน้ำมันฯ และภาษีเบียร์ ที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 7,476 และ 4,168 ล้านบาท ตามลำดับ เนื่องจากปริมาณน้ำมันและเบียร์ที่ชำระภาษีต่ำกว่าที่ประมาณการไว้

ด้านกรมศุลกากรเก็บภาษีได้ 5.48 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,745 ล้านบาท เป็นผลจากการจัดเก็บอากรขาเข้าต่ำกว่าประมาณการจำนวน 2,054 ล้านบาท เนื่องจากการนำเข้าสินค้าที่ใช้สิทธิพิเศษทางภาษีมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้การจัดเก็บอากรขาเข้าไม่ขยายตัวตามที่ประมาณการไว้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน