นายเศกสรรค์ เรืองโวหาร ผู้อำนวยการกองประสานและพัฒนาปัจจัยการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนใน จ.กาญจนบุรี จัดสัมมนา หัวข้อ “บีโอไอ กับการเพิ่มศักยภาพการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และการขับเคลื่อนสู่ประเทศไทย 4.0” ในวันที่ 4 พ.ค. 2561 เพื่อให้ข้อมูลถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน หรือ SEZ (Special Economic Zone) มาตรการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รวมถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนอื่นๆ

สำหรับจ.กาญจนบุรี ได้จัดพื้นที่รองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ระยะที่ 2 ทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งรัฐบาลมุ่งหวังสร้างพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดน เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนภายใต้สิทธิประโยชน์จากบีโอไอจะต้องลงทุนใน 10 จังหวัด และต้องอยู่ในตำบลและอำเภอที่กำหนด โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ อาทิ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นสำหรับการผลิตเพื่อการส่งออก 5 ปี รวมถึงการผ่อนผันให้ใช้แรงงานต่างด้าว เป็นต้น

นอกจากนี้ยังกำหนดกิจการเป้าหมาย 13 กลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบด้วย 1. อุตสาหกรรมการเกษตรและประมง 2. เซรามิกส์ 3. สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องหนัง 4. เครื่องเรือน 5. อัญมณีและเครื่องประดับ 6. เครื่องมือแพทย์ 7. ยานยนต์ เครื่องจักรและชิ้นส่วน 8. เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 9. พลาสติก 10. ยา 11. โลจิสติกส์ 12. นิคมหรือเขตอุตสาหกรรม และ 13. กิจการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว

“ผู้ประกอบการจะได้ทราบทิศทางนโยบายและมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ๆ รวมถึงมาตรการส่งเสริมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนใน จ.กาญจนบุรีได้โดยตรง ซึ่งปัจจุบันมีบางกลุ่มประเภทกิจการที่ไม่ให้ส่งเสริมในพื้นที่อื่น แต่เปิดให้ส่งเสริมเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเท่านั้น อาทิ บรรจุภัณฑ์พลาสติก กล่องกระดาษ วัสดุก่อสร้าง และกิจการผลิตสบู่ ยาสระผม ยาสีฟัน และเครื่องสำอาง เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนผลิตสินค้าสำหรับตลาดประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะต้องยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายใน 30 ธ.ค. 2561”นายเศกสรรค์ กล่าว

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2556-2560) บีโอไออนุมัติส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีแล้ว 53 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 26,000 ล้านบาท กิจการที่ลงทุนสูงสุด ได้แก่ กิจการกลุ่มเคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษ รองมา คือ กิจการเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร กิจการด้านบริการและสาธารณูปโภค กิจการแร่ เซรามิกส์ และโลหะ รวมถึงกิจการเครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง ตามลำดับ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน