นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2559/60 อัตราเฉลี่ยทั่วประเทศในอัตรา 1,083.86 บาท/ตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. และกำหนดอัตราขึ้น ลง ของราคาอ้อยเท่ากับ 65.03 บาทต่อ 1 ซี.ซี.เอส.ต่อเมตริกตัน และอัตราผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายเท่ากับ 464.51 บาท/ตันอ้อย พร้อมกับให้คิดคำนวณผลตอบแทนการผลิตที่ 15.28% และให้หักเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ตามสัดส่วน 70 ต่อ 30 ในอัตราตันละ 5 บาท โดยเป็นส่วนของชาวไร่อ้อยที่ 3.50 บาทต่อตันอ้อย และส่วนของโรงงานน้ำตาล 1.50 บาทต่อตันอ้อย

ทั้งนี้ ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายที่กำหนดครั้งนี้สูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่แยกตามเขต เขต 1,2,3,4,6,7,9 ที่ 1,050 บาทต่อตันอ้อย เขต 5 ที่ 980 บาทต่อตันอ้อย ทำให้โรงงานน้ำตาลจะต้องชำระค่าอ้อยเพิ่มให้แก่ชาวไร่จนครบตามราคาอ้อยขั้นสุดท้ายภายใน 15 วัน นับแต่ประกาศราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ซึ่งหลังครม. กำหนดราคาอ้อยครั้งสุดท้ายนี้แล้ว ชาวไร่จะได้รับค่าอ้อยสำหรับนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการเพาะปลูกและบำรุงรักษา และการดำรงชีพต่อไป ซึ่งจะก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนต่อเนื่องในเศรษฐกิจ

สำหรับข้อมูลประกอบการคำนวณราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิต 2559/60 มีองค์ประกอบสำคัญ คือ ผลผลิตอ้อยโดยรวมที่ 92.95 ล้านตัน คุณภาพอ้อยเฉลี่ย 12.28 ซี.ซี.เอส. ผลผลิตน้ำตาลทรายภายในประเทศรวมทุกปีโควตาระหว่าง เดือนต.ค. 2559-ก.ย. 2560 ผลผลิตกากน้ำตาลทั้งสิ้น 3.98 ล้านตัน ราคากากน้ำตาลเฉลี่ย 4,178.53 บาทต่อตัน สรุปผลการขายน้ำตาลดิบโควตา ข. เฉลี่ย 18.88 เซนต์ต่อปอนด์ ปริมาณน้ำตาลทราบดิบโควต้านำเข้าสหรัฐฯ 20,326.40 ตัน และค่าธรรมเนียมวิจัยและการส่งเสริมการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย ที่ 536.48 ล้านบาท

นายณัฐพร กล่าวอีกว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้รายงานให้ที่ประชุมครม. ทราบถึงประเด็นข้อพิพาทเรื่องน้ำตาลทรายภายใต้องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ระหว่างไทยกับบราซิลว่า มิได้มีประเด็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดราคาอ้อยทั้งขั้นต้นและขั้นสุดท้าย การกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิต 2559/60 จึงไม่ขัดดับเบิลยูทีโอ แต่เป็นการรักษาประโยชน์ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย รวมทั้งเป็นการสร้างหลักประกันอย่างพอเพียงและเหมาะสมให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย ซึ่งล่าสุด บราซิล ได้ชะลอการฟ้องไทยไว้ก่อนเนื่องจากบราซิลต้องการติดตามการบังคับใช้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับใหม่ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกกฎหมายขนาดนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน