นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรมธนารักษ์ได้ลงนามในสัญญาให้บริษัทภูเก็ต ดีพ ซี พอร์ต จำกัด เป็นผู้รับสิทธิลงทุนและบริหารจัดการท่าเรือภูเก็ตเป็นระยะเวลา 30 ปี เพื่อพัฒนาจากท่าเรือร้างเป็นท่าเรือสำหรับท่องเที่ยว รองรับเรือสำราญขนาดใหญ่เป็นแห่งแรกของภาคใต้ และแห่งที่สองของประเทศไทยต่อจากท่าเรือแหลมฉบัง และช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่ และผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวทางน้ำตามนโยบายของรัฐบาล

“โครงการนี้มีการดำเนินการมานานกว่า 2 ปี โดยผู้ชนะการประมูลเป็นบริษัทภูเก็ต ดีพ ซีพอร์ต ซึ่งเสนอค่าธรรมเนียมการจัดหาผลประโยชน์มาให้กรมฯ สูงสุดที่ 345 ล้านบาท มากกว่าเงื่อนไขที่กรมกำหนด 139 ล้านบาท และยังมีแผนลงทุนพัฒนาอีกกว่า 132 ล้านบาท เพื่อขยายหน้าท่าเรือ สร้างอาคารผู้โดยสาร การขูดเพิ่มความลึกล่องน้ำ และปรับปรุงลานจอดรถอีก ซึ่งจะรองรับนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักจากต่างชาติได้ เพราะปกติคนที่โดยสารมาทางเรือสมุทรขนาดใหญ่จะมีกำลังการใช้จ่ายสูงกว่าทางเครื่องบินมาก”

ส่วนแผนการพัฒนาท่าเรือที่เหลือของกรมธนารักษ์ ในส่วนท่าเรือสงขลา อยู่ระหว่างให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาเนื่องจากเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่เกินกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งตามระเบียบจะต้องเข้ากระบวนการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) ซึ่งคาดจะเสร็จและเริ่มประมูลได้ภายใน 2-3 เดือนนี้ ส่วนท่าเรือเชียงแสน ได้ให้เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสนเป็นผู้พัฒนาเป็นท่าเรือท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้ทางเทศบาลได้ทำแผนพัฒนาทางท่องเที่ยวเสนอให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รับทราบเรียบร้อยแล้ว

สำหรับความคืบหน้าการต่อสัญญาการเช่าที่ราชพัสดุของ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะหมดสัญญาเช่าในปี 2565 ขณะนี้ได้ข้อสรุปราคาค่าเช่าแล้ว โดยกรมธนารักษ์จะต่อสัญญาเช่าฉบับใหม่ให้กับบริษัทไทยออยล์ไปอีก 30 ปี รวมค่าเช่าตลอดอายุสัญญาอยู่ที่ประมาณ 12,000 ล้านบาทต่อปี สูงกว่าราคาขั้นต่ำและราคาที่แจ้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ 8,600 ล้านบาทต่อปี ซึ่งคาดว่าจะเสนอให้ครม.พิจารณาได้ในเร็วๆนี้

“เบื้องต้นไทยออยล์จะต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมก้อนแรกประมาณ 2,900 ล้านบาท โดยการต่ออายุสัญญานั้นจะมีผลตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย. 2565-10 ก.ย. 2595 พร้อมอาคารสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน 80 รายการ โดยสัญญาเช่าที่ราชพัสดุจะสิ้นสุดในวันที่ 10 ก.ย. 2565 ส่วนการจัดเก็บรายได้ปีนี้ ธนารักษ์คาดว่าปีนี้จะสามารถจัดเก็บรายได้จากการให้เช่าที่ราชพัสดุได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 7,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่จัดเก็บได้ประมาณ 6,000 ล้านบาท”

นายวัลลภ พงษ์เลื่องธรรม ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ภูเก็ต ดีพ ซี พอร์ต จำกัด กล่าวว่า การลงทุนพัฒนาท่าเรือภูเก็ตระยะแรกจะใช้เงินกว่า 132 ล้านบาท เพื่อทำการขยายหน้าท่าให้มีความกว้างขึ้นอีก 60 เมตร จากปัจจุบัน 360 เมตร เป็น 420 เมตร ซึ่งจะช่วยให้รองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ซึ่งบรรทุกนักท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้นจากลำละ 2,500 คน เพิ่มเป็น 8,000 คนต่อเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวทางเรือสมุทรได้ไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี จากปัจจุบันที่มีเดินทางเข้ามา 2-3 แสนคนต่อปี

“ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการหลายรายสนใจเดินเรือเข้ามาไทยแต่มาไม่ได้เพราะท่าเรือใหญ่ไม่พอ ดังนั้นแผนการพัฒนาท่าเรือแห่งนี้จะทำเป็นท่าเรือสำราญขนาดใหญ่แห่งแรกในฝั่งอันดามันของไทย ช่วยเพิ่มโอกาสทางการท่องเที่ยวได้อีกมาก โดยคาดว่าใช้เวลาก่อสร้าง 18 เดือน ทำเสร็จและเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวได้ทันฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปี 2562 และจากการที่บริษัทไปโร้ดโชว์ล่วงหน้ามาหลายแห่ง ก็ได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้เดินเรือสำราญจากทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น จีน ฮ่องกง เกาหลี สิงคโปร์ ตลอดจนเรือสำราญจากยุโรป หรือแม้แต่ไมอามีจากสหรัฐอเมริกา ที่เข้ามาจองล่วงหน้าเต็มไปถึงปี 2563-2564”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน