ไทย-ญี่ปุ่น ถอนอุตสาหกรรมหนัก “เหล็ก-ปิโตรเคมี” ออกจากแผนแม่บท พัฒนาเขตเศรษฐกิจทวาย เมียนมา เตรียมถก 3 ฝ่าย ถามความเห็นพม่า ปลาย มิ.ย.นี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่าภายหลังประชุมร่วมกับคณะผู้แทนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (ไจก้า ) เมื่อวันที่ 4มิ.ย. ว่า ไจก้ามานำเสนอผลการศึกษาเพิ่มเติมการจัดทำแผนแม่บทโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย ประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นความร่วมมือ 3 ฝ่าย ระหว่าง ไทย ญี่ปุ่น พม่า โดยผลการศึกษาของญี่ปุ่นครั้งนี้เป็นการศึกษาเพิ่มเติมภายหลังจากที่ไทยได้เห็นชอบแผนแม่บทเบื้องต้น 2 ฝ่ายร่วมกับพม่าไปก่อนหน้านี้แล้ว

สำหรับผลการศึกษาของไจก้านั้น มีข้อเสนอที่แตกต่างจากแผนแม่บท 2 ฝ่ายระหว่างไทยกับเมียนมาหลายประเด็น ประกอบด้วย คือ 1. ประเภทของอุตสาหกรรมภายที่จะส่งเสริมให้เกิดขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยญี่ปุ่นเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หรืออุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ในเขตเศรษฐกิจทวาย แต่ควรส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากกว่า เช่น อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการจ้างงานในระดับที่ไม่ต้องใช้ทักษะขั้นสูงมากนัก ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเมียนมาโดยตรง

2. ระยะการพัฒนาตามแผนแม่บท ญี่ปุ่นเสนอให้มีการขยายระยะเวลาการพัฒนาตามแผนแม่บทออกไปอีก เนื่องจากต้องการให้เกิดความพร้อมเรื่องของการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานให้เรียบร้อยก่อน เพื่อให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจและกล้าที่จะเข้ามาลงทุน เบื้องต้นจะจัดทำเป็น 3 ระยะ
โดยระยะที่ 1 สิ้นสุดปี 2573 ระยะที่ 2 ปี 2583 และ ระยะที่ 3 ปี 2593

3. ความจำเป็นเร่งด่วนในการขับเคลื่อนโครงการ ญี่ปุ่นเห็นว่าควรเร่งรัดงานโครงสร้างพื้นฐานก่อน โดยเฉพาะถนนซึ่งจากการผลการศึกษาของกรมทางหลวงพบว่า แบบการก่อสร้างเดิมยังมีปัญหาเรื่องความสูงชัน จำเป็นต้องปรับแก้ไข เบื้องต้นสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือเนด้า อยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาทำการศึกษาทบทวนการออกแบบรายละเอียด รวมทั้งแนวเส้นทางใหม่แล้ว
ทั้งนี้ ในส่วนของการก่อสร้างถนนที่จะเชื่อมโยงพื้นที่โครงการทวายสู่ชายแดนไทย-เมียนมาระยะทาง 138 กิโลเมตรนั้น คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลไทยมีมติที่จะปล่อยกู้ให้แก่รัฐบาลพม่าวงเงิน 4,500 ล้านบาท เพื่อให้พม่านำไปลงทุนก่อสร้างต่อไป

“ขณะนี้ญี่ปุ่น และไทยเห็นร่วมกันแล้วว่า ให้ถอนอุตสาหกรรมหนักออกไป ทั้งอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และเหล็กต้นน้ำ และหันไปส่งเสริมอุตสาหรรมที่ใช้แรงงานแทน เพื่อเอื้อประโยชน์กับเมียนมา เช่นอุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนยานต์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สามารถเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมของไทยได้ด้วย เช่นญี่ปุ่นอาจจะไปตั้งโรงงานผลิตชิ้สส่วนในพม่า และส่งมาประกอบต่อที่เมืองไทย รวมทั้งปัจจุบันไทยยังเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีอยู่แล้ว”

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายไทยและญี่ปุ่นจะนำข้อสรุปข้างต้นไปหารือในการประชุม 3 ฝ่าย เพื่อแก้ไขร่างรายงานฉบับสุดท้ายการจัดทำแผนแม่บทที่จะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อแลกเปลี่ยนและสอบถามความเห็น ทั้งนี้หากเมียนมาเห็นด้วย และได้ข้อสรุปร่วมกัน จะมีการนัดให้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทยและเมียนมา ได้เห็นชอบร่วมกันในแผนแม่บทพัฒนาโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย ในประเทศพม่า มูลค่าลงทุน ราว 3.6 แสนล้านบาท โดยวางเป้าหมายร่วมกันว่า จะส่งเสริมให้มีการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รวมทั้งอุตสาหกรรมพลังงาน โรงกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงงานเหล็กต้นน้ำ แต่ในการหารือครั้งล่าสุด ระหว่างไทยและญี่ปุ่น ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้อง ให้ยุติการส่งเสริมอุตสาหกรรมหนัก เพราะเห็นว่าไม่มีความจำเป็น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน