นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบความคุมทางศุลกากร และโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรมศุลกากรและกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้หารือเรื่องการแก้ไขปัญหาการนำเข้าเศษพลาสติกและเศษอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถูกต้อง จนทำให้เกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย สร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของชีวิตประชาชน และจะกระทบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ได้มีการสรุปมาตรการ 6 ด้าน เพื่อดูแลปัญหาดังกล่าว ประกอบด้วย
มาตรการที่ 1 กรมศุลกากรจะทำบิ๊กดาต้ากับกรมโรงงาน อุตสาหกรรม แลกเปลี่ยนข้อมูล เช่น มีโรงงานที่นำเข้าเศษพลาสติกและเศษอิเล็กทรอนิกส์ไม่ถูกต้อง ทางกรมโรงงานก็จะส่งข้อมูลมาให้กรมศุลกากรเพื่อไม่ให้นำสินเข้าดังกล่าวเข้าประเทศ
มาตรการที่ 2 หลังจากนี้กรมศุลกากรจะมีการเอ็กซเรย์ตู้เศษพลาสติก และเศษอิเล็กทรอนิกส์ ทุกตู้ 100% จากเดิมที่สุ่มตรวจเป็นบางตู้เท่านั้น
มาตรการที่ 3 หากพบว่ามีการนำเข้าไม่ถูกต้องทางกรมศุลกากรก็จะให้ผู้นำเข้านำสินค้าดังกล่าวกลับสู่ประเทศต้นทางทันที
มาตรการที่ 4 กรมศุลกากรจะทำการตรวจสอบหลังการปล่อยตู้เศษพลาสติกและเศษอิเล็กทรอนิกส์ ว่าเมื่อออกจากท่าเรือแล้ว ได้เดินทางไปยังโรงงานที่แจ้งไว้หรือไม่
มาตรการที่ 5 กรมศุลกากรและกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อพิจารณาแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นช่องโหว่ที่ให้มีการนำเข้ามาไม่ถูกต้อง
มาตรการที่ 6 บริษัทที่นำเข้ามาไม่ถูกต้องทางกรมศุลกากรจะส่งชื่อให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อทำการยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการ

นายชัยยุทธ อธิบายว่า การนำเข้าเศษพลาสติก และเศษอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย หากดำเนินการถูกต้อง โดยการนำเข้าเศษพลาสติกต้องได้รับการอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ และกรมโรงงานอุตสาหกรรม เสียภาษีนำเข้าอัตรา 30% สำหรับการเศษอิเล็กทรอนิกส์ ต้องได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม เสียภาษีนำเข้า 0% โดยการนำเข้าเศษทั้งสองชนิด ต้องทำความสะอาดก่อนนำเข้ามาในประเทศอย่างเพียงพอ

นอกจากนี้ ยังมีการนำเข้าเศษโลหะ เศษทองแดง เศษทองเหลือง และเศษอลูมิเนียม ซึ่งไม่ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานใด แต่ต้องเสียภาษีนำเข้า 1-10% ซึ่งกรมศุลกากรได้เข้มตรวจการนำเข้าในกลุ่มนี้ด้วย เพราะพบว่า มีการนำเข้าเศษพลาสติกและเศษอิเล็กทรอนิกส์ผสมเข้ามาเป็นจำนวนมาก และได้การกักตู้สินค้าดังกล่าว 33 ตู้ที่ท่าเรือกรุงเทพ เพื่อให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมมาตรวจสอบว่าเป็นการนำเข้าที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะไม่มีการทำความสะอาดและมีกลิ่นเหม็น หากไม่ถูกต้องก็จะให้ส่งกลับประเทศต้นทาง

นายชัยยุทธ กล่าวว่า การนำเข้าเศษพลาสติก และเศษอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีปัญหาขณะนี้เป็นเรื่องปลายทาง เมื่อผู้นำเข้านำและไปคัดแยก และเกิดมีขยะเสียเป็นพิษและไม่มีกระบวนการกำจัดที่ดี ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมควบคุมมลพิษ จะเข้าไปจัดการ ในส่วนของกรมศุลกากรเป็นผู้ดูแลต้นทาง หากมีใบอนุญาตนำเข้าและเสียภาษีถูกต้อง ก็นำเข้าได้อยู่แล้ว

นอกจากนี้ ในปี 2560 ที่ผ่านมา ประเทศจีนประกาศห้ามนำเศษพลาสติกและเศษอิเล็กทรอนิกส์เข้าประเทศจีน มีผลตั้งแต่ต้นปี 2561 ส่งผลให้มีการนำเข้าเศษทั้ง 2 ชนิดเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ส่วนจะมีการห้ามนำเข้าเหมือนประเทศจีนหรือไม่ ต้องเป็นนโยบายของรัฐบาล โดยกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรม ว่ายังมีความจำเป็นต้องนำเข้าหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน