ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด เพิ่งประกาศขึ้นดอกเบี้ย เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้ และยังส่งสัญญาณในการดำเนินนโยบายเชิงรุกมากขึ้น สำหรับการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง จะส่งผลต่อเศรษฐกิจใหม่อย่างประเทศไทยอย่างไร

โดย ธนาคารกสิกรไทย ได้จัดสัมมนา “ส่องเศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลัง” เพื่อฉายภาพเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลัง 2561 ยังเติบโตต่อเนื่อง เนื่องจากประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อาทิ สหรัฐอเมริกา และยุโรป ยังมีการขยายตัว โดยตัวเลขการจ้างงานยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

แม้ตลาดจะมีความวิตกเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา กับอีกหลายประเทศที่มีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐ แต่ซึ่งในความเป็นจริงจะเห็นว่าหลายประเทศต่างๆ เหล่านี้มีบริษัทจากอเมริกาฯ เข้าไปลงทุนตั้งโรงงานผลิต โดยเฉพาะจีน ดังนั้น การเดินเครื่องสงครามการค้าของสหรัฐอเมริกา คงจะไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ

ทำให้มีการมองกันว่า สาเหตุที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีปฏิกิริยาแข็งข้อต่อประเทศต่างๆ เหล่านี้ เป็นเพียงต้องการหวังผลในการรักษาคะแนนนิยมให้กับพรรครีพับลิกันของนายทรัมป์ และหวังผลจากฐานเสียง ที่จะมีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร สำหรับสภาล่าง ในปลายปีนี้

การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ปรับขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้ เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ส่วนในเดือน ก.ย. และ ธ.ค.ปีนี้ จะเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอีกรวม 2 ครั้ง ส่งผลให้ปีนี้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งหมด 4 ครั้ง ซึ่งถือว่ามากกว่าที่ตลาดคาดไว้ว่า 3 ครั้งในปีนี้

ทำให้ในระยะสั้นช่วง 2-4 สัปดาห์นี้ อาจจะส่งผลกระทบให้มีเงินทุนไหลออกจากไทยแต่ไม่รุนแรง และทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไป อยู่ที่ระดับ 32.40-32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในช่วงสิ้นปีนี้ ค่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าขึ้น โดยอยู่ที่ระดับ 32 บาท ซึ่งเป็นผลจากประเทศไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง เนื่องจากมีรายได้จากการส่งออกดีขึ้น และรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวไทยมากขึ้น ทำให้มีรายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศมากขึ้น

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับ 1% ซึ่งสะท้อนว่าการบริโภคในประเทศยังขยายตัวไม่มาก ทำให้ราคาสินค้าปรับขึ้นไม่มาก ดังนั้นเมื่อมีรายได้ในรูปของเงินตราต่างประเทศมากขึ้น ก็ทำให้เชื่อว่ายังไม่มีความจำเป็นที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

หากในปีหน้ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ซึ่งจะมีผลในเชิงจิตวิทยาต่อการบริโภคในประเทศที่มากขึ้น จะมีผลให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ซึ่งความจำเป็นในการขึ้นดอกเบี้ยก็จะมีน้ำหนักมากขึ้น โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ย ก็คาดว่าจะอยู่ในช่วงปลายไตรมาส 1 ปี 2562 ไปแล้ว

ในขณะที่ธนาคารยังคงเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปีนี้ที่คาดว่ายังคงยืนที่ระดับ 4.2% ภายใต้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ 3.9-4% ส่วนการส่งออกของไทย คาดว่าจะขยายตัวในระดับ 7-8%

นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้จึงไม่ค่อยมีผลต่อตลาดหุ้น แต่ตามธรรมชาติเมื่อดอกเบี้ยขึ้นหุ้นจะลง เพราะนักลงทุนจะลงในสิ่งที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นในอาเซียนโดยเฉพาะประเทศไทยยังให้ผลตอบแทนที่จูงใจนักลงทุน

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยไว้ แต่ในอนาคตก็จะมีการปรับขึ้นให้เหมาะสม เพราะจากอดีตจนปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐ จะเติบโตกันอย่างคู่ขนานกันมาตลอด แต่ขณะนี้ดอกเบี้ยของสหรัฐปรับขึ้นมากกว่าไทยแล้วคือ 1.75% ขณะที่ดอกเบี้ยของไทยอยู่ที่ 1.50% แต่ยังไม่สูงพอที่ ธปท. จำเป็นต้องขยับขึ้นดอกเบี้ยตาม

ด้าน น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มีมุมมองต่อเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลังว่า จะเติบโตต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก โดยมาจากเศรษฐกิจสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปที่เติบโตได้ดี ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่องด้วยเช่นกัน เนื่องจากประเทศไทยยังพึ่งพาเศรษฐกิจโลก จากการส่งออก

โดยประเมินว่า จีดีพีไทยปีนี้จะขยายตัว 4.5% จากต้นปีที่มองไว้ 4% เนื่องจากช่วงไตรมาสแรกตัวเลขการส่งออก และท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ขณะเดียวกันจะเห็นการกระจายรายได้ไปยังประชากรฐานรากมากขึ้น และการจ้างงานเพิ่มขึ้น ตลอดจนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น 3% ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมาเมื่อเทียบจากไตรมาสเดียวของปีที่แล้ว และภาครัฐมีการลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้ ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา พบว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตมากกว่า 70% เพิ่มขึ้นจากในอดีตที่อยู่ในระดับ 50% ส่งผลให้มีภาคการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตรองรับงานที่จะเข้ามาในอนาคต

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามในครึ่งปีหลัง ทั้งราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง และราคายางที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งอาจเห็นเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังเชื่อว่าจะอยู่ในระดับ 1%

สรุปเศรษฐกิจโดยภาพใหญ่ จากนี้ถึงสิ้นปีไม่น่าห่วง โดยในระดับเศรษฐกิจโลกปัจจัยที่ต้องจับตาคือการดำเนินนโยบายการค้าของนายทรัมป์

“ส่วนเศรษฐกิจไทย การประกาศเลือกตั้งของรัฐบาล จะมีผลต่อการขับเคลื่อนการบริโภคในประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน