นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ภาพรวมการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ช่วง 4 เดือนของปี 2561 ไทยมีการส่งออกไปยัง 17 ประเทศ ซึ่งเป็นคู่เจรจา FTA มูลค่า 45,695.68 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.78 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกโดยใช้สิทธิประโยชน์ฯ มูลค่า 21,706.39 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 20.33% คิดเป็นสัดส่วน 73.06% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ ทั้งนี้ กรอบเอฟทีเอที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน 8,090.63 ล้านเหรียญสหรัฐ อาเซียน-จีน 5,364.90 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทย-ออสเตรเลีย 3,006.44 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทย-ญี่ปุ่น 2,285.44 ล้านเหรียญสหรัฐ และอาเซียน-อินเดีย 1,156.08 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนประเทศคู่ค้าที่มีอัตราการใช้สิทธิเอฟทีเอสูงสุด 5 ประเทศ คือ ชิลี ออสเตรเลีย เปรู ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

นายอดุลย์ กล่าวว่าการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ช่วง 4 เดือนปี 2561 มีมูลค่ารวม 18,632.75 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.65% เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2560 ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกโดยใช้สิทธิจีเอสพีมูลค่า 1,470.95 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.13% คิดเป็นสัดส่วน 55.38% ของการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิจีเอสพีทั้งหมด

โดยตลาดส่งออกที่ใช้สิทธิจีเอสพีสูงที่สุด คือ สหรัฐฯ มีมูลค่าการส่งออกรวม 1,368.92 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.12% สัดส่วน 93% ของมูลค่าการใช้สิทธิฯ รวมทุกระบบ เนื่องจากวันที่ 1 ก.ค. 2560 สหรัฐฯ ได้เพิ่มรายการสินค้าในบัญชีที่ได้รับจีเอสพี เช่น เครื่องใช้ในการเดินทาง 27 รายการ และเม็ดพลาสติกเซลลูโลสไนเทรต ทำให้มีการขอใช้สิทธิจีเอสพี ส่งออกเพิ่มขึ้น โดยสินค้าเซลลูโลสไนเทรต มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 5.76% ส่วนสินค้าเครื่องใช้ในการเดินทางที่มีการใช้สิทธิจีเอสพีสูง ได้แก่ กระเป๋าถือด้านนอกทำจากหนัง กระเป๋าถือด้านนอกทำจากหนังอัด กระเป๋ากีฬา กระเป๋าถือทำจากหนังเคลือบเงา เป็นต้น ส่วนตลาดส่งออกที่ใช้สิทธิจีเอสพี รองลงมา คือ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มีมูลค่าการใช้สิทธิรวม 53 ล้านเหรียญสหรัฐ สวิตเซอร์แลนด์ 41 ล้านเหรียญสหรัฐ นอร์เวย์ 4 ล้านเหรียญสหรัฐ และญี่ปุ่น 4 ล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ

“กรมฯ ขอแนะนำผู้ผลิตที่ส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอ หรือส่งออกไปยังประเทศที่ให้สิทธิจีเอสพีขอให้ตรวจสอบก่อนว่าสินค้าที่ตัวเองผลิตและส่งออกนั้นได้รับสิทธิพิเศษหรือไม่ ถ้าได้ควรขอใช้สิทธิประโยชน์ เพื่อลดต้นทุนและสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าไทย เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ เมื่อเทียบกับสินค้าของคู่แข่ง ที่ไม่ได้ลดหย่อนภาษี โดยปีนี้จะส่งเสริมให้ใช้สิทธิเอฟทีเอให้ได้เต็ม 100% หลังพบว่าผู้ส่งออกใช้สิทธิพิเศษทั้งปี 2560 มีสัดส่วนถึง 71.32% มูลค่า 60,441 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ใช้สิทธิพิเศษจีเอสพีทั้งปี 63.97% มูลค่า 4,606.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ”นายอดุลย์ กล่าว

สำหรับญี่ปุ่นจะจัดจีเอสพีที่เคยให้กับไทย ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2562 นั้น จะไม่กระทบต่อไทยเพราะจะได้สิทธิลดภาษีเหลือ 0% ในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นแทน จึงเหลือเพียง 1 รายการที่ยังได้สิทธิจีเอสพีคือสารให้ความหวานแคลอรี่ต่ำ เพราะ 4 เดือนแรกยังส่งออกไม่เกิดปริมาณคุมของญี่ปุ่นและส่งไปเพียง 9.2 แสนเหรียญสหรัฐฯ

นายอดุลย์ กล่าวกรณีสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก 25% และอลูมิเนียมนำเข้า 10% จากจีนฯ ทำให้จีนประกาศตอบโต้เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ 128 รายการ ว่า อาจมีความกังวลบ้างในเรื่องห่วงโซ่ในการผลิตสินค้านำเข้าไปสหรัฐฯ แต่ผลไม้ไทยซึ่งเป็นผลไม้หน้าร้อน จะได้ประโยชน์ในเข้าชิงส่วนแบ่งตลาดได้มากขึ้น ในส่วนกรณีสหรัฐฯ ต้องการให้ไทยเปิดเสรีนำเข้าหมูนั้น ฝ่ายไทยโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ทำหนังสือชี้แจงไปแล้วถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมในประเทศและการบริโภคของคนไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน