นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ภายในเดือนนี้จะประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อการส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งตนเองเป็นประธานกรรมการร่วมกับนายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยทั้ง 2 กระทรวง จะร่วมมือแก้ปัญหาขยะพลาสติกในแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะขยะพลาสติกในทะเล พร้อมกับพิจารณาแนวทางจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อไม่ให้มีปัญหากระทบสิ่งแวดล้อมเช่นที่ผ่านมา เพราะตอนนี้เรื่องท่องเที่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมแยกจากกันไม่ได้ โดยจะพิจารณาไปถึงการเพิ่มค่าธรรมเนียมการเข้าพื้นที่อุทยานด้วย รวมทั้งจะมีการพิจารณาถึงค่าธรรมเนียมเข้าประเทศหรือค่าเหยียบแผ่นดินกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งปีนี้อาจถึง 38 ล้านคน นับเป็นจำนวนที่สูงมากกับการที่ต้องดูแลสิ่งแวดล้อม เชานญี่ปุ่นมีการเก็บเงินลักษณะนี้แล้ว

“คณะกรรมการฯ ชุดนี้ แต่งตั้งโดย นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา และพล.อ.วีระศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. เพื่อให้ร่วมกันกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่อนุรักษ์ทั้งทางบกชายฝั่งและในทะเล พร้อมเสนอวิธีการแก้ปัญหา เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยแนวทางที่จะนำมาแก้ปัญหาเกี่ยวกับขยะพลาสติกคงมีหลายระดับ ตั้งแต่การห้ามใช้ เช่นที่มีการห้ามนำขวดพลาสติกเข้าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หรือนำเข้าไปแล้วต้องนำกลับออกมา ต่อมาคือการขอความร่วมมือ และขั้นสุดท้ายคือการประสานกระทรวงการคลังให้ออกมาตรการทางการคลังในการเก็บภาษีพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ซึ่งมีใช้ในยุโรปและอังกฤษ ตลอดจนมีมาตรการลดภาษีเพื่อจูงใจให้สถานประกอบการช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม”

ด้านนายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขยะพลาสติกกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ต้องใช้เวลาย่อยสลาย 100-450 ปี และพวกขยะพลาสติกในทะเล จะมีขนาดเล็กๆ กลายเป็นไมโครพลาสติก เวลาอยู่ในทะเลจะเหมือนแมงกะพรุน และแพลงตอน เมื่อปลาเห็นก็ไปกิน และคนก็กินปลาอีกที กลับกลายเป็นอันตรายสู่คน ทางรมว.ทรัพยากรฯจึงมีนโยบายให้ลด ละ เลิก การใช้พลาวติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง และรณรงค์ให้หันมาใช้พลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้แทน ขณะที่ในปีนี้ได้ประสานบริษัทผลิตน้ำดื่มให้ยกเลิกใช้ลดการซิลที่รองใต้ฝาขวดน้ำพลาสติก สามารถลดการใช้ได้ 2,600 ล้านตันต่อปี ขณะที่การดูแลสิ่งแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นอุทยานแห่งชาติ เช่น การปิดอ่าวมาหยา ของหมู่เกาะพีพี เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ 1 มิ.ย.-30 ก.ย. 2561 ล่าสุดได้รับรายงานว่าได้ช่วยฟื้นฟูธรรมชาติและแนวปะการังเป็นอย่างดี ซึ่งแนวทางนี้จะนำมาใช้กับแหล่องท่องเที่ยวอื่นที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเกินไปด้วย

สำหรับสถานการณ์การท่องเที่ยวในเดือนพ.ค. 2561 ค่าดัชนีอยู่ที่ 154.84 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวน 2.75 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 6.35% ซึ่งเป็นเดือนแรกที่มีจำวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาประเทศไทยต่ำกว่า 3 ล้านคน เนื่องจากเป็นช่วงการถือศีลรอมฎอนของชาวมุสลิม จึงทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มตะวันออกกลางลดลงถึง 31.34% และเป็นช่วงการแข่งขันกีฬาฟุตบอลโลก จึงทำให้นักท่องที่ยวยุโรปลดลง 0.01% โดยก่อให้เกิดรายได้รวม 136,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 9% นักท่องเที่ยวจีนยังสร้างรายได้สูงสุด รองลงมาคือ มาเลเซีย อินเดีย สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ รัสเซีย สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและฮ่องกง

ขณะที่ในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-พ.ค. 2561) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาประเทศไทย 16.45 ล้านล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 12.62% สร้างรายได้รวม 867,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 16.11% ส่วนไทยเที่ยวไทย 4 เดือนแรกปีนี้มีจำนวน 48.5 ล้านคน/ครั้ง เพิ่มขึ้น 5.7% โดยเป็นการท่องเที่ยวในเมืองหลัก 11.99 ล้านคน/ครั้ง เพิ่มขึ้น 5.64% และเป็นการเที่ยวเมืองรอง 28.74 ล้านคน/ครั้ง เพิ่มขึ้น 5.16% และสร้างรายได้รวม 356,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% โดยเมืองรองที่ได้รับอานิสงส์ คือ ลพบุรี บุรีรัมย์ และชุมพร สะท้อนถึงนโยบายส่งสริมการท่องเที่ยวเมืองรองได้ผล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน