น.ส.นวลจันทร์ เตชะเสริมสุขกูล รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวในโอกาสลงพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานและเยี่ยมชม “โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมชีวมวล” ของกลุ่มบริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์ ที่ได้รับรางวัลดีเด่นด้านพลังงานทดแทน ประเภทโคเจนเนอเรชั่น (Cogeneration) จากการประกวด Thailand Energy Awards ปี 2017-2018 อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ว่า ปัจจุบันบริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) มีกำลังการผลิต 23,000 ตันอ้อยต่อวัน หรือคิดเป็นปริมาณอ้อยรวมมากกว่า 3 ล้านตันต่อปี มีกากอ้อยจากกระบวนการผลิตน้ำตาล 750,000 ตันต่อปี ใช้เงินลงทุนรวมมากกว่า 1,000 ล้านบาท

โดยมีการจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมชีวมวลขึ้น 2 แห่ง เพื่อนำกากอ้อยดังกล่าวมาผลิตไอน้ำและไฟฟ้าใช้เป็นพลังงาน ได้แก่ โรงไฟฟ้าของบริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด หรือบีพีซี (BPC) กำลังการผลิตไฟฟ้า 9.9 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 100 ตันต่อชั่วโมง โรงงานของบริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด หรือบีอีซี (BEC) กำลังการผลิตไฟฟ้า 9.9 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 85 ตันต่อชั่วโมง และบริษัท บุรีรัมย์ เพาเวอร์พลัส จำกัด หรือบีพีพี (BPP) กำลังการผลิตไฟฟ้า 9.9 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 110 ตันต่อชั่วโมง ซึ่งทั้ง 3 โรงจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตได้ 8 เมกะวัตต์ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ภายใต้สัญญาผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก หรือวีเอสพีพี (VSPP) ตามมาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือฟีด อิน ทารีฟ (Feed-in Tariff หรือ FiT) และส่งไฟฟ้าและไอน้ำบางส่วนกลับไปให้โรงงานน้ำตาลใช้ในกระบวนการผลิต

นายอดิศักดิ์ ตั้งตรงเวชกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด หนึ่งในกลุ่มบริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทมีแนวทางขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลอีก 1 โรง คาดกำลังการผลิต 8-10 เมกะวัตต์ เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่ดำเนินการอยู่แล้ว 3 โรง เพื่อรองรับกำลังการผลิตจากกากอ้อยที่ยังเหลืออยู่ประมาณปีละ 1 แสนตัน แต่ต้องรอนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากรัฐบาลให้มีความชัดเจนอีกครั้งว่าจะยังมีความต่อเนื่องหรือไม่ รวมทั้งจะมีการปรับอัตรารับซื้อไฟฟ้าเพื่มขึ้นจากปัจจุบันกำหนดไว้ 2.40 บาทต่อหน่วยหรือไม่ เพราะเห็นว่าอัตราดังกล่าวต่ำเกินไป ไม่จูงใจให้เกิดการลงทุน โดยอัตราที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 3.60 บาทต่อหน่วย

“ต้องยอมรับว่าภาคเอกชนยังไม่มั่นใจต่อนโยบายพลังงานทดแทนของรัฐบาลที่ไม่มีความชัดเจนว่าจะเดินหน้าต่อไปหรือไม่ หรือจะไปในทิศทางใด โดยเฉพาะอัตราการรับซื้อไฟฟ้าที่ 2.40 บาทต่อหน่วยนั้นยังต่ำเกินไปไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ขนาดโรงไฟฟ้าบุรีรัมย์พลังงานและบุรีรัมย์พาวเวอร์ที่ใช้วัตถุดิบจากโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ในเครือของตัวเองยังไม่คุ้ม เพราะฉะนั้นโรงไฟฟ้าที่ต้องรับซื้อวัตถุดิบจากแหล่งอื่นย่อมจะมีต้นทุนแพงกว่า แต่ขายให้รัฐเพียง 2.40 บาทต่อหน่วย ยิ่งคุ้มทุนแน่นอน”

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างปรับพื้นที่เตรียมก่อสร้างโรงงานผลิตภาชนะจากชานอ้อย แยกสายการผลิตเป็นธุรกิจใหม่อีกผลิตภัณฑ์หนึ่งภายใต้แบรนด์เอสอีดับเบิ้ลยู (SEW) เงินลงทุนประมาณ 350 ล้านบาท คาดจะแล้วเสร็จช่วงปลายปี 2562 และตั้งเป้าหมายจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ช่วงต้นปี 2563 โดยเบื้องต้นมีแผนจำหน่ายในประเทศ 50% ทดแทนที่ไทยนำเข้าจากจีน และส่งออกไปยังประเทศในแถบยุโรป รวมถึงเจาะกลุ่มตลาดใหม่ๆ อีก 50%

ขณะเดียวกัน ยังมีแผนขยายโรงงานน้ำตาลทรายพร้อมโรงไฟฟ้า 2 แห่งที่ อ.ชำนิ จ.บุรีรัมย์ และอ.โนนนารายณ์ จ.สุรินทร์ กำลังผลิตน้ำตาลแห่งละ 23,000 ตันต่อวันลงทุนแห่งละ 4,000-5,000 ล้านบาทโดยจะเริ่มที่ อ.ชำนะ ก่อนในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) เมื่อทำส่วนนี้เสร็จก็จะดำเนินงานในส่วนของจ.สุรินทร์ต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน