นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุศัตว์ เปิดเผยว่า เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำรายละเอียด การป้องกันการทุจริต กรณีโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ตามข้อเสนอของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และครม. รับทราบ และให้ดำเนินการตามแนวทางที่เสนอ เพื่อป้องกันการทุจริตนมโรงเรียน โดย นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯ กำชับให้คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) เร่งดำเนินการให้ทันภาคเรียนที่ 2 ปี 2561 และรมว.เกษตรฯ สั่งการให้ไปประสานกับปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ครูร่วมเป็นกรรมการตรวจรับนมโรงเรียน เพื่อตรวจสอบคุณภาพนมที่จัดส่งไปด้วยแล้ว

การดำเนินการเพื่อป้องกันการทุจริต ตามข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.นั้น มี 7 ข้อ รวมถึงต้องทบทวนมาตรการลงโทษผู้ประกอบการที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามประกาศหลักเกณฑ์นมโรงเรียน ดังนี้ คือ 1. ให้กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานหลักในการตรวจสอบ ติดตามประเมินผลการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน อย่างน้อยภาคเรียนละ 1 ครั้ง

2. ให้กระทรวงเกษตรฯ พิจารณาทบทวนแนวทางการบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน โดยให้ทบทวนบทบาทของหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest)

3. เสนอให้พิจารณาทบทวนระยะเวลาการจัดทำบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น (เอ็มโอยู) ปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเดือนต.ค. ซึ่งเป็นระยะเวลาคาบเกี่ยวภาคการศึกษาที่ 2 เมื่อได้ดำเนินการจัดสรรสิทธิ์แล้ว ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิทธิ์ในการจำหน่ายได้ โดยมิลค์บอร์ด มีความเห็นว่า ควรมีการทำเอ็มโอยูเป็นรายภาคการศึกษาแทนการทำเป็นรายปีการศึกษา 4. การปรับปรุงจัดการ Matching ระบบโลจิสติกส์ ในการขนส่งนมโรงเรียน

5. กระทรวงเกษตรฯ ต้องพิจารณาทบทวนแก้ไข และเพิ่มอัตราโทษของความผิดตามประกาศของมิลค์บอร์ด 6. ให้กระทรวงเกษตรฯ พิจารณากระบวนการจัดซื้อนมโรงเรียน โดยให้โรงเรียนเป็นผู้สั่งซื้อโดยตรงผ่านระบบการจัดซื้อด้วยระบบการจัดหาพัสดุด้วยวิธีการตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (e-market) และด้วยวิธีการประกวดราคา อิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)

และ 7. ให้พิจารณาทบทวนและองค์ประกอบของมิลค์บอร์ด โดยให้ปรับเปลี่ยนฝ่ายเลขานุการจาก อ.ส.ค. เป็น ปศ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบการบริหารจัดการนมโรงเรียน รวมถึงพิจารณาปรับปรุงคณะอนุกรรมการภายใต้ มิลค์บอร์ด เพื่อให้เกิดการจัดสรรสิทธิ์ที่เป็นธรรม โดยให้ยึดหลักการสำคัญของรัฐบาลว่า เกษตรกร 19,000 ราย ขายนมได้ราคาเป็นธรรม นักเรียน 7.4 ล้านคน ได้ดื่มนมในเวลา 260 วัน/ปี และ ผู้ประกอบการได้รับสิทธิ์อย่างโปร่งใสเป็นธรรม

นายสรวิศ กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการฯ ได้กำหนดราคาที่จะรับซื้อนมพาสเจอร์ไรท์ และ ยูเอชที ตามมติ ครม. หากปรับเปลี่ยนวิธีการเป็นรูปแบบประกวดราคาแบบอีเล็คทรอนิค (e-bidding) ต้องทบทวนวิธีการดำเนินการใหม่แทนวิธีการจัดซื้อแบบพิเศษที่ผ่านมา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน