นางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวปาถกฐาพิเศษในหัวข้อ “Realizing Digital Thailand” ในงานสัมมนา Thailand Competitive conference 2018 จัดโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ว่า ทางไอบีเอ็มได้เคยทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารองค์กร ใน 112 ประเทศ ใน 20 อุตสาหกรรม พบว่า ปัญหาการถูกดิจิทัลดิสรัปชั่นนั้น ไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วง หากองค์กรนั้นมีการปรับวัฒนธรรมองค์กร ปรับวิธีการทำงาน และมีการเตรียมพร้อมด้วยการจัดตั้งฝ่ายนวัตกรรมขึ้นมาดูแล ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าธุรกิจสตาร์ตอัพนั้นไม่มีกำลังมากพอที่จะไปดิสรัปฯรายใหญ่ แต่ในทางกลับกัน องค์กรใหญ่ต่างหากที่จะเป็นผู้ที่ไปดิสรัปฯ ธุรกิจอื่น

“ใครที่กลัวฟินเทคนิคสตาร์ตอัพมาดิสรัปธุรกิจ ต้องบอกเลยไม่ต้องห่วง แต่ให้ห่วงรายใหญ่ด้วยกันเอง เพราะข้อมูลที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกว่า 80% อยู่ในองค์กรใหญ่ ไม่ใช่เป็นข้อมูลที่หาได้บนอินเตอร์เน็ต ซึ่งการแข่งขันในยุดดิจิทัลนั้นมีการกระโดดข้ามอุตสาหกรรมได้ง่าย จึงปัจจุบันผู้บริหารแบงก์ยักษ์ใหญ่บางราย ยังบอกว่าคู่แข่งของเขาไม่ใช่ฟินเทคแต่เป็นธุรกิจทางด้านโทรคมนาคม ซึ่งมีทั้งเงินทุนและองค์ความรู้ทางด้านดิจิทัล” นางพรรณสิรี กล่าว

สำหรับการเตรียมตัวรับมือสำหรับโลกเศรษฐกิจดิจิทัล อันดับแรก องค์กรต้องมองหาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ของตัวเอง ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการตั้งแผนกนวัตกรรมของตัวเอง หรือร่วมมือกับสตาร์ตอัพที่มีไอเดียดี นำมาผสานเข้ากับเงินทุนและข้อมูลที่องค์กรมี สร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมา รวมไปถึงจะต้องนำเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม มาปรับใช้ในธุรกิจ

การสร้างพื้นที่ให้กับคนรุ่นใหม่ หรือนำคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถเข้ามาทำงานในองค์กร รวมถึงเปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนเหล่านี้แสดงความคิด หรือการมองหาพาร์ทเนอร์ทางกลยุทธ์ เพราะในยุคดิจิทัล เราจะเห็นความร่วมมือแบบข้ามอุตสาหกรรมที่ง่ายขึ้น ซึ่งการมองหาพันธมิตรภายนอกมาต่อยอดธุรกิจ หรือ แม้กระทั่งการร่วมมือกับคู่แข่ง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

“การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล หัวหน้าองค์กร จะเป็นคนสำคัญในการเข้ามาตัดสินใจว่า จะนำมาธุรกิจไปในทิศทางใด ซึ่งการนำเทคโนโลยีแพลตฟอร์มมาประยุกต์ใช้ อย่าเพิ่งไปคิดถึงเรื่องการ สร้างอะไรที่ยิ่งใหญ่ เปลี่ยนโลก เพียงแต่คิดว่า เราหาเทคโนโลยีที่มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แค่นั้นก็เพียงพอต่อการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลแล้ว”

นางพรรณสิรี กล่าวเสริมอีกว่า นอกจากการนำเทคโนโลยีแพลตฟอร์มมาใช้แล้ว การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่าง ปัญญาประเดิษฐ์ (AI), บิ๊กดาต้า คลาวด์คอมพิวติ้ง ไอโอที และ สมาร์ตดีไวซ์ มาเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ทั้งในเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูล หรือ การเช็กอัพระบบการทำงาน ลดต้นทุน ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน

ทั้งนี้ เกือบ 20 ปี ที่ทาง TMA มีบทบาทในด้านการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ได้ดำเนินโครงการ Thailand Competitiveness Enhancement Program โดยความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งกิจกรรมที่ดำเนินการได้กระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความเชื่อมโยงในการดำเนินงานของภาคส่วนต่างๆ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ผู้บริหารทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เห็นความสำคัญเข้ามามีบทบาทร่วมกันขับเคลื่อนการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างคับคั่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน