นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย หรือไบโออิโคโนมี มูลค่าการลงทุน 200,000 ล้านบาท ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ว่า ต้องเร่งแก้กฎระเบียบที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยเฉพาะการแก้ไขพระราชบัญญัติการผังเมือง เพื่อเปิดทางให้ตั้งโรงงานเคมีชีวภาพ และการแปรรูปสินค้าเกษตรในพื้นที่เกษตรกรรม เป็นประเด็นที่น่ากังวลมากที่สุด เนื่องจากส่วนใหญ่การแก้ไขพ.ร.บ.การผังเมือง ต้องใช้ระยะไม่ต่ำกว่า 1 ปี หากพื้นที่ใดล่าช้า อาจส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพในภาพรวมทั้งประเทศได้

“แหล่งพื้นที่เกษตร ถือเป็นแหล่งผลิตที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยโรงงานจะต้องอยู่ในพื้นที่เพาะปลูก เพื่อลดต้นทุนและเวลาการขนส่ง ลดความเสียหายของถนน เรื่องนี้จึงต้องเร่งแก้ไขต่อไป โดยพื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ 3 พื้นที่ ได้แก่ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี), ภาคเหนือตอนล่าง จ.นครสวรรค์และกำแพงเพชร และภาคอีสานตอนกลาง จ.ขอนแก่น ในพื้นที่จ.ของแก่น จะติดปัญหาผังเมืองมากที่สุด หากการแก้ไขกฎหมายผังเมืองล่าช้า อาจทำให้เกิดอุตสาหกรรมชีวภาพช้ากว่าพื้นที่อื่น และอาจส่งผลกระทบทำให้โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพในภาพรวมทั้งประเทศได้”

นอกจากนี้ ต้องแก้ไขพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ให้สามารถนำอ้อยไปผลิตสินค้าอื่นที่ไม่ใช่น้ำตาลทรายได้ และจัดสรรวัตถุดิบ หรือน้ำอ้อย ที่เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเคมีชีวภาพให้เพียงพอและเหมาะสมกับอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) อยู่ระหว่างการนำเสนอร่างพ.ร.บ.ต่อที่ประชุม ครม.

ขณะเดียวกันต้องแก้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ที่กำหนดให้โรงงานที่ใช้อ้อย ต้องมีระยะห่างระหว่างกันไม่ต่ำกว่า 50 กิโลเมตร ต้องยกเลิกข้อกำหนดนี้ เพื่อให้ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมชีวภาพ เพื่อต่อยอดการผลิตจากโรงงานน้ำตาลได้ แต่ต้องได้รับการยินยอมจากโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ และสอน. ก่อน ซึ่งอยู่ระหว่างกำหนดหลักเกณฑ์โรงงานชีวภาพ เพื่อแยกอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพออกจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จะช่วยสร้างความมั่นใจให้ชุมชนที่เข้าไปตั้งโรงงานเคมีชีวภาพว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับผลที่ได้จากมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ จะทำให้เกิดมูลค่าการลงทุนรวม 200,000 ล้านบาท ใน 3 อุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ เคมีชีวภาพ พลาสติกชีวภาพ และชีวเภสัชภัณฑ์ แบ่งเป็นพื้นที่ อีอีซี ในระหว่างปี 2560-2564 จะเกิดการลงทุนรวมทั้งสิ้น 9,740 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการผลิตน้ำยาล้างไต ไบโอคอมเพล็กซ์จากผลผลิตปาล์ม เฟส 1

ส่วนพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง จ.นครสวรรค์ และกำแพงเพชร ระหว่างปี 2560-2569 มีมูลค่าการลงทุนรวม 51,000 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการไบโอคอมเพล็กซ์ การผลิตกรดแล็กติก สำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ การผลิตโพลี แลคทิค แอซอิด, โพลี แลค, ไบโอ ซัสซินิค แอซอิดไบโอ-1, และแลคทิค แอซอิด สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร โครงการผลิตดรายด์ ยิสต์, ยิสต์ แอคแทค, เบต้า กลูแคน สำหรับอุตสาหกรรมอาหารเบต้า กลูแคน สำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และฟังชั่นเนล ซูก้า ต่อยอดจากอ้อยและมันสำปะหลัง

พื้นที่ภาคอีสานตอนกลาง หรือขอนแก่น ในระหว่างปี 2560-2569 จะมีมูลค่าการลงทุนรวม 35,030 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ เพื่อผลิตยิสต์ โพไบโอทิค เอนไซม์น้ำเบตา-กลูแคน จากกระบวนการหมักด้วยราแมลง เอนไซม์ไฟเตสสำหรับอาหารสัตว์ และแป้งทนการย่อยด้วยเอนไซม์ ต่อยอดจากอ้อยและมันสำปะหลัง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน