กรมบัญชีกลางรายงานว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับกรณีที่กรมบัญชีกลางออกหลักเกณฑ์เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคมะเร็งและโลหิตวิทยาตามสวัสดิการข้าราชการ สำหรับยา 9 รายการเท่านั้น ซึ่งคำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้มา 3-4 เดือน ส่งผลให้ข้าราชการที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากบางรายถูกเปลี่ยนยาจนเกิดผลข้างเคียง ขณะที่บางรายประสบปัญหาด้านการเงิน เพราะต้องสำรองเงินไปก่อน แล้วยังไม่สามารถเบิกได้ ดังนั้น จึงเรียกร้องให้ยุติคำสั่งดังกล่าวและเร่งแก้ไขปัญหา พร้อมเสนอแนะให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาผู้ป่วยโรคมะเร็งเหมือนกับกองทุนโรคเอดส์

โดยน.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ขอชี้แจงว่า การที่กรมบัญชีกลางได้กำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติในการเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งและโลหิตวิทยา มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผล เกิดประโยชน์และปลอดภัยกับผู้ป่วย

กรณีที่อ้างว่า เบิกจ่ายตรงได้เพียง 9 รายการ และหลังจากมีผลบังคับใช้มา 3-4 เดือน ส่งผลให้ข้าราชการที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากบางรายถูกเปลี่ยนยาจนเกิดผลข้างเคียง ขอชี้แจงว่า การกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าว ไม่มีผลกระทบต่อผู้ป่วยรายเดิม ที่อยู่ระหว่างการรักษาและยังสามารถเบิกจ่ายตรงได้จนสิ้นสุดการรักษา และเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ปลอดภัย กรมบัญชีกลางกำหนดให้มีระบบลงทะเบียนแพทย์และผู้ป่วย (ระบบ OCPA) ก่อนการใช้ยา เนื่องจากยาดังกล่าวเป็นยาอันตราย อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงรุนแรง เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ หากใช้ยากับผู้ป่วยที่มีภาวะไม่เหมาะสม เช่น ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ป่วยที่มีร่างกายอ่อนแอมาก

ในส่วนของยาอื่นที่เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติและยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติยังคงเบิกค่ารักษาพยาบาลในระบบเบิกจ่ายตรงได้ ยกเว้นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติบางรายการที่ห้ามเบิกจ่ายตรงเท่านั้น รายการยาที่ห้ามเบิกจ่ายตรงเป็นการพิจารณากลั่นกรองข้อมูลจากคณะทำงาน ซึ่งประกอบไปด้วย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย เป็นต้น โดยคำนึงถึงคุณภาพ ประสิทธิผล และความคุ้มค่าในการใช้ยาดังกล่าวก่อนการรักษา โดยยาที่ห้ามเบิกจ่ายตรงเป็นยาที่สามารถใช้ยาอื่น หรือการรักษาอื่นทดแทนได้ เช่น ยา Vinorebine oral ที่ใช้รักษามะเร็งเต้านมและปอด สามารถใช้ยา Vinorebine IV ซึ่งอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติทดแทนได้ ยา Afatinib และ Erlotinib ที่ใช้รักษามะเร็งปอด สามารถใช้ยา Gefitinib ที่อยู่ในระบบ OCPA ทดแทนได้ เป็นต้น

จากที่กล่าวอ้างว่า ผู้มีสิทธิบางรายประสบปัญหาด้านการเงิน เพราะต้องทดรองเงินไปก่อน แล้วยังไม่สามารถเบิกได้นั้น โดยหลักการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลมี 2 วิธี คือ 1. ให้ผู้มีสิทธิทดรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลแล้วนำใบเสร็จไปเบิกค่ารักษาพยาบาลกับต้นสังกัด และ 2. เบิกค่ารักษาพยาบาลผ่านระบบเบิกจ่ายตรง ดังนั้น การทดรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อน จึงไม่ใช่หลักเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นใหม่

อย่างไรก็ดี กรมบัญชีกลางจะมีการพิจารณาปรับหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายสำหรับยาที่ห้ามเบิกจ่ายตรง โดยเบื้องต้นกรมบัญชีกลางได้มีการหารือแนวทางดำเนินการร่วมกับผู้แทนอุตสาหกรรมยา เพื่อกำหนดแนวทางดำเนินการให้ผู้ป่วยเข้าถึงยานวัตกรรมที่จำเป็นต่อการรักษาโดยให้สามารถเบิกค่ายาในระบบเบิกจ่ายตรงได้อย่างสมเหตุผล ทั้งนี้ ทางผู้แทนอุตสาหกรรมยา ยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐและพร้อมจะจัดทำข้อเสนอให้คณะทำงานพิจารณาและกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน