ฝ่ายกฏหมายคมนาคม ดับฝัน ขสมก. ห้ามนำอู่รถเมล์ บางเขน-มีนบุรี มูลค่า 2 พันล้าน ทำเลทองย่านชุมชมมีรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน เปิดให้เอกชนประมูลเชิงพาณิชย์ อ้างต้องปรับสัดส่วนให้ใช้พื้นที่เดินรถมากกว่าพาณิชย์ บิ๊กขสมก. ยันส่งกฤษฎีกาตีความ ยันต้องหารายได้เสริมค่าโดยสารถูกแช่แข็งนาน

นายประยูร ช่วยแก้ว รักษาการ ผอ.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) เปิดเผย ถึงความคืบหน้าการดำเนินการตามยุทธศาสตร์เพิ่มรายได้ ตามแผนฟื้นฟูกิจการของขสมก. ว่า เดิมขสมก. ตั้งเป้าจะนำอู่รถเมล์ในทำเลทอง 2 แห่ง คือ บางเขน และมีนบุรี มาพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ เปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนพัฒนา แต่เกิดปัญหาไม่สามารถทำได้ เนื่องจากฝ่ายกฎหมายของกระทรวงคมนาคม ทำความเห็นแย้งว่า การนำพื้นที่ซึ่งเป็นอู่รถเมล์ 80% ของพื้นที่ทั้งหมด มาพัฒนาเชิงพาณิชย์ไม่เหมาะสม

หากจะดำเนินการต่อ ต้องปรับลดสัดส่วนพื้นที่เชิงพาณิชย์ลง ให้น้อยกว่าพื้นที่สำหรับการเดินรถ เนื่องจากวัตถุประสงค์การจัดตั้ง ขสมก. ตามพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ.2519 กำหนดไว้ชัดเจนว่า ภารกิจหลักของ ขสมก. คือการให้บริการเดินรถเท่านั้น
“หากจะต้องปรับลดขนาดพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้เหลือน้อยลงกว่าพื้นที่เดินรถ คิดว่าคงไม่มีเอกชนรายใดสนใจที่จะเข้ามาลงทุนพัฒนาที่ดินแน่นอน เพราะว่าไม่คุ้มค่า ขณะที่การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เป็นสิ่งจำเป็นที่ ขสมก.ต้องทำให้สำเร็จ เพื่อหารายได้มาเสริม นอกเหนือไปจากรายได้จากการเดินรถที่ได้รับ ซึ่งทุกวันนี้ก็ไม่คุ้ม เพราะรัฐบาลไม่อนุญาตให้เราปรับขึ้นค่าโดยสารมานานแล้ว ดังนั้น ขสมก. จะส่งเรื่องดังกล่าวไปให้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ช่วยตีความอีกครั้งเพื่อให้เกิดความชัดเจน พร้อมเพิ่มอำนาจของ ขสมก. ให้สามารถนำที่ดินของ ขสมก. มาประกอบธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องกับการเดินรถได้ เช่นเดียวกับกรณีของ บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน”
สำหรับแผนการพัฒนาเชิงพาณิชย์ของขสมก. ว่าจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสาตร์ศึกษาความเหมาะสม ระบุให้ขสมก. นำอู่บางเขน และมีนบุรี มาเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ ในรูปแบบพีพีพี สัญญาเช่าระยะ 30 ปี อู่บางเขน มีพื้นที่ 12 ไร่ มูลค่าที่ดินมากกว่า 1,000 ล้านบาท เพราะอยู่ในย่านธุรกิจ อนาคตมีรถไฟฟ้าผ่าน 2 สาย คือสายสีชมพูและสายสีเขียว หมอชิตสะพานใหม่-คูคต เสนอให้พัฒนาเป็นศูนย์การค้าหรือคอมมูนิตี้ มอลล์

อู่มีนบุรี พื้นที่ 14ไร่ มูลค่าที่ดินราว 1,000 ล้านบาท เสนอให้พัฒนาเป็นอาคารพาณิชย์ แบ่งชั้นล่างเป็นอู่รถเมล์ และชั้นบนเป็นตลาดขายสินค้า เพราะอยู่ในพื้นที่ชุมชนหนาแน่น อยู่ปลายสายรถไฟฟ้า สายสีชมพู แคราย-มีนบุรี เบื้องต้นคาดว่า ขสมก.จะมีรายได้ จากนำอู่ทั้ง 2 แห่ง พัฒนาเชิงพาณิชย์ ปีละไม่ต่ำกว่า 600 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน