น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยผลการเดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 24-27 ก.ค. 2561 เพื่อหารือกับผู้บริหารระดับสูงของสหรัฐฯ เรื่องปัญหาอุปสรรคทางการค้า การขยายความร่วมมือการค้าการลงทุน ในฐานะมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมายาวนานกว่า 200 ปี ซึ่งสหรัฐฯ พร้อมร่วมมือเดินหน้าทำงานกับไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า และเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนระหว่างกัน

น.ส.ชุติมา กล่าวว่า การเยือนสหรัฐฯ ครั้งนี้ ได้พบหารือกับผู้บริหารระดับสูงของสหรัฐฯ อาทิ รองผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (Ambassador Jeffrey D. Gerrish) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ (Honorable Gilbert B. Kaplan) เรื่องข้อกังวลต่อการใช้มาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย เช่น การที่สหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรา 232 ขึ้นภาษีสินค้าเหล็กและอลูมิเนียมจากทั่วโลก ซึ่งส่งผลให้สินค้าเหล็กและอลูมิเนียมของไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ถูกเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 25 และร้อยละ 10 ตามลำดับ จึงมาติดตามเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์ของไทยได้เคยหยิบยกขึ้นหารือกับสหรัฐฯ ผ่านทางหนังสือของรัฐมนตรีว่าการฯ และการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ (TIFA JC) เมื่อเดือนเ.ย. ที่ผ่านมา

โดยการหารือครั้งนี้ ไทยได้ย้ำขอให้สหรัฐฯ ยกเว้นการใช้มาตรการดังกล่าวกับไทย เนื่องจากสินค้าเหล็กและอลูมิเนียมของไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ มีสัดส่วนน้อยมาก ไม่ถึงร้อยละ 1 ในตลาดสหรัฐฯ จึงไม่น่าส่งผลเสียหายต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญของการใช้มาตรการ อีกทั้งไทยยังได้ร่วมมือกับอาเซียนหารือกับจีน เพื่อให้ลดการผลิตเหล็กส่วนเกินไม่ให้ล้นตลาดโลก ตลอดจนไทยได้เพิ่มความเข้มงวดในการดูแลป้องกัน ไม่ให้เกิดการแอบอ้างนำสินค้าเหล็กและอลูมิเนียมจากแหล่งอื่นมาสวมสิทธิ์ว่าเป็นสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดจากไทย

นอกจากนี้ ไทยยังได้แสดงความกังวลต่อการเปิดไต่สวนมาตรา 232 ของสหรัฐฯ ในสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วน โดยได้ขอให้สหรัฐฯ พิจารณาถึงผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อทั้งสองประเทศ เนื่องจากการสินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นห่วงโซ่ หรือองค์ประกอบที่สำคัญในอุตสาหกรรมต่อเนื่องของสหรัฐฯ โดยไทยพร้อมหารือ และร่วมมือกับสหรัฐฯ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นและหาทางออกร่วมกันต่อไป ซึ่งสหรัฐฯ รับที่จะนำข้อห่วงกังวลของไทยไปพิจารณา และเห็นพ้องว่า ทั้งสองฝ่ายควรจะหารือต่อเนื่องเพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป

น.ส.ชุติมา กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยยังได้หารือกับสหรัฐฯ เรื่องที่สมาพันธ์สหภาพแรงงานสหรัฐฯ และสมาคมผู้ผลิตสุกรสหรัฐฯ ได้ยื่นขอให้สหรัฐฯ ทบทวนการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) แก่ไทย โดยอ้างว่าไทยไม่ได้คุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และมีการกีดกันเนื้อสุกรของสหรัฐฯ ซึ่งไทยได้แจ้งสหรัฐฯ ว่าหน่วยงานของไทยทั้งภาครัฐ ตัวแทนนายจ้าง และลูกจ้าง อยู่ระหว่างหารือเพื่อปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ และร่าง พ.ร.บ. รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เพื่อให้ครอบคลุมสถานการณ์ด้านแรงงานในปัจจุบัน และสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ ซึ่งคาด พ.ร.บ. ที่ปรับปรุงใหม่น่าจะมีผลใช้บังคับได้ภายในปี 2561 ส่วนกรณีเนื้อสุกร เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้บริโภค ไม่ใช่เรื่องการกีดกันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม จึงควรร่วมกันหาออกที่เหมาะสม โดยมีพื้นฐานและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ ซึ่งสหรัฐฯ รับฟังและจะหารือกับไทยเพื่อแลกเปลี่ยนความคืบหน้าเป็นระยะต่อไป

น.ส.ชุติมา กล่าวเสริมว่า นอกเหนือจากการหารือกับภาครัฐของสหรัฐฯ ยังได้มีโอกาสหารือกับบริษัทชั้นนำในสหรัฐฯ ที่มีการนำเข้าสินค้าจากไทย ทั้งในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร เหล็ก ยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและโอกาสทางการค้าระหว่างไทย-สหรัฐฯ รวมทั้งการผลักดันให้สหรัฐฯ ยกเลิกการใช้มาตรการ 232 กับไทย และคงสิทธิ GSP แก่ไทยต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน