นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ในโครงการวิจัยเรื่องการพัฒนาระบบการประกันภัยพืชผลการเกษตร ระหว่างกระทรวงเกษตรฯ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า สำนักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสมาคมประกันวินาศภัย ว่า เพื่อพัฒนาระบบประกันภัยพืชผล เพื่อขยายผลสร้างแรงจูงใจให้ครอบคลุมการประกันพืชผลการเกษตรชนิดอื่น นอกเหนือจากข้าว ประกอบด้วย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปศุสัตว์ ให้ทันปีการผลิต 2562 มีเป้าหมายรับประกันผลผลิตด้านการเกษตรเพิ่มขึ้น อาทิ ข้าว 30 ล้านไร่ ข้าวโพดและปศุสัตว์ 1 ล้านไร่ เป็นต้น

ทั้งนี้ ระบบประกันภัยพืชผลได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 แต่ไม่ได้รับความนิยมจากเกษตรกร จนเมื่อปี 2559 และ 2560 รัฐบาลและธ.ก.ส. ได้เป็นหน่วยงานหลักในการจ่ายค่าเบี้ยประกันให้กับเกษตรกร ส่งผลให้เกษตรกรที่ประสบภัยได้รับค่าเสียหายหรือสินไหมรวม 2,080 ล้านบาท หรือ 1,260 บาท/ไร่ หรือประมาณ 90-100% ของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ แต่หากไม่ทำประกันภัย ชาวนาหรือเกษตรกรจะได้รับค่าชดเชยหรือเยียวยาประมาณ 25% ของต้นทุนด้านการเกษตร

ดังนั้นการเอ็มโอยูครั้งนี้ เพื่อจะนำปัจจัยเสี่ยง ภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ฝนแล้ง ความแม่นยำของการสำรวจความเสียหายมาศึกษาวิจัย เพื่อให้การจ่ายสินไหมทดแทนหลังเกิดเหตุมีความรวดเร็วและเป็นธรรมกับเกษตรกร

นายปิติ ดิษยทัต ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธปท. กล่าวว่า ระบบประกันภัยพืชผลที่ร่วมกันทำวิจัยครั้งนี้เพื่อพัฒนาสินค้าประกันภัย ให้เกษตรกรซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มเป้าหมายสนใจ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลพยายามเสนอขายประกันภัยพืชผลให้กับเกษตรกร นำร่องที่ประกันนาข้าว แต่ชาวนาไม่ให้ความสนใจ จนรัฐบาลและธ.ก.ส. ต้องร่วมกันจ่ายเงินเบี้ยประกันให้เกษตรกร หากเกิดภัยพิบัติเกษตรกรจะเป็นผู้รับสินไหมทดแทนโดยไม่ต้องลงทุน

“6 หน่วยงานต้องร่วมกับเก็บข้อมูล ทั้งเรื่องของภัยพิบัติ น้ำท่วม ฝนแล้ง หรือเรื่องของธรรมชาติที่เกษตรกรไทยได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลจนเคยตัว จนทำให้การทำประกันภัยพืชผลเป็นต้นทุนการประกอบอาชีพที่เพิ่มขึ้น โดยไม่จำเป็นเพราะเมื่อเกิดเหตุ น้ำท่วม หรือ แล้งจนผลผลิตด้านการเกษตรเสียหาย รัฐบาลก็ต้องช่วยเหลือ หรือเยียวยา ดังนั้นการเคยชินกับการรับของชาวนาหรือเกษตรกร จะถูกนำมาคิดแบบประกัน นำมาเป็นปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรไม่สนใจการทำประกัน แต่โจทย์ที่ต้องทำวิจัยร่วมกันคือ ต้องร่วมคิดผลิตภัณฑ์ ที่มีราคาถูกและน่าสนใจ เพื่อลดการอุดหนุนจากภาครัฐ”

นายปิติ กล่าวว่า การวิจัยโครงการนี้ จะได้รับผล 3 ด้านคือ 1.ระบบประกันภัยพืชผลทางการเกาตรที่ครอบคลุมและยั่งยืน ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกาตรกร และลดภาระทางการคลังให้รัฐบาล 2.ระบบฐานข้อมูลเกษตรกรที่ดีขึ้น จะช่วยต่อยอดให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้กับเกาตรกรได้หลากหลาย เช่นการเพิ่มโอกาสให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลฐานอื่นๆเพื่อต่อยอดทางด้านนโยบายรัฐบาล และ 3.สร้างข้อมูลของเกษตรกรให้มีคุณภาพมากขึ้นและผู้ใช้ข้อมูลมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบไปพร้อมๆ กัน

ด้านจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เชื่อว่าจะเกิดความเสียหายต่อพื้นที่ทำนาของเกษตรกรจำนวนมาก แต่ขณะนี้ยังประเมินไม่ได้ว่าจะต้องจ่ายสินไหมจำนวนเท่าไหร่ โดยปี 2561 มีชาวนาทำประกันภัยพืชผล 26.7 ล้านไร่ เบี้ยประกันภัย 2,658 ล้านบาท แต่ความเสียหายจะเป็นเท่าไหร่ ต้องรอหลังน้ำลด ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้สนับสนุนการทำประกันภัยพืชผลมาตั้งแต่ปี 2554 บริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการของรัฐบาลก็ขาดทุนมาตลอด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน