กระทรวงคมนาคมสั่งรื้อโปรเจ็ครถไฟระบบไฟฟ้า “หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์” ผลศึกษาระบุไม่คุ้มค่า มีแต่รถไฟของมาเลย์ได้ประโยชน์แต่ไทยยังไม่มีใช้ สั่งรฟท.ปรับแผนสร้างเป็นระบบรถไฟดีเซลรางตามปกติ ประหยัดงบได้กว่าพันล้าน เหลืองบเพียง 7 พันล้าน

รายงานข่าวกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ได้หารือร่วมกับหน่วยงานในสังกัด ถึงแผนปฏิบัติการลงทุนด้านคมนาคมขนส่งปี 2561 มีพิจารณาความเหมาะสมโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 48 กม. วงเงิน 8,000 ล้านบาท ซึ่งศึกษาและออกแบบโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) โดยที่ประชุมมีเห็นให้ปรับแผนใหม่ ยกเลิกการเดินรถด้วยระบบไฟฟ้า เปลี่ยนมาใช้การเดินรถด้วยระบบดีเซล เหมือนทางคู่ทั่วไปแทน

เนื่องจากการก่อสร้างเป็นรถไฟระบบไฟฟ้า ซึ่งไทยจะต้องลงทุนติดตั้งระบบไฟฟ้าที่รางฝั่งไทย เพื่อให้รถไฟระบบไฟฟ้าของมาเลเซีย เส้นทาง อิโปห์-ปาดังเบซาร์ วิ่งเข้ามาไทยนั้นไม่คุ้มค่า เพราะปัจจุบัน ไทยเองก็ยังไม่มีรถไฟระบบไฟฟ้าที่จะนำมาวิ่งให้บริการ รวมทั้งยังไม่ได้หารือกับมาเลเซียเรื่องค่าใช้จ่ายในการใช้ทางของฝ่ายไทยด้วย ซึ่งหากเดินหน้าโครงการรถไฟดังกล่าวต่อไป รัฐบาลจะตอบคำถามเกี่ยวกับความคุ้มค่ากับสังคมไม่ได้ จึงจำเป็นต้องปรับแผนใหม่
ข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กลับไปปรับแผนใหม่ ให้ถอดระบบไฟฟ้าออกจากโครงการ จะทำให้งบลงทุนปรับลดลงราว 1,000 ล้านบาท จาก 8,000 ล้านบาท เหลือ 7,000 ล้านบาทเท่านั้น ขณะนี้ รฟท.ได้ปรับแผนเสร็จแล้ว และเสนอโครงการให้คมนาคมพิจารณาแล้ว พร้อมรถไฟทางคู่เฟส 2 อีก 7 เส้นทางที่เหลือ
กระทรวงยังจะต้องขอความเห็นเพิ่มเติมจาก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอให้ ครม. พิจารณาอนุมัติพร้อมกันทั้ง 8 เส้นทาง ภายในปีนี้ เส้นทาง หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ปัจจุบันผ่านการอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแล้ว เมื่อ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรถไฟระบบไฟฟ้าเส้นทางดังกล่าว ถูกบรรจุอยู่ในแผนปฏิบัติการลงทุนด้านคมนาคมขนส่งปี พ.ศ.2561 ในส่วนของรถไฟทางคู่เฟส 2 เดิมกระทรวงคมนาคมตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันให้เป็น รถไฟเส้นทางแรกของประเทศ ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า ตามผลการศึกษา รถโดยสารมีขนาดความ เร็ว 120 กม./ชม. ส่วนขบวนรถสินค้า ใช้ความเร็ว 90 กม./ชม. ระยะทางรวม 48 กิโลเมตร วิ่งผ่าน 3 สถานีหลัก ได้แก่ ชุมทางหาดใหญ่ สถานีคลองแงะ และที่หยุดรถฝั่งไทยเชื่อมต่อไปยัง สถานีปาดังเบซาร์ โดยจะใช้เวลาประมาณ 26 นาที สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 3.5 ล้านคนต่อปี ขนสินค้าได้ 1.5 ล้านตันต่อปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน