นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์ซ่อมบำรุง ศูนย์ควบคุมการเดินรถศูนย์ฝึกอบรม สถานีคลองบางไผ่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-เตาปูน ว่า มาติดตามความพร้อมของศูนย์ฝึกอบรมในการรองรับ พ.ร.บ.กรมราง ที่คาดว่าจะเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ในปลายปีนี้ และหากผ่านมติ สนช. ก็จะมีกฎหมายบังคับให้พนักงานขับรถไฟฟ้าทุกคนจะต้องมีใบขับขี่รถไฟฟ้า ดังนั้น จึงจะผลักดันให้รฟม. จัดทำศูนย์ฝึกอบรม หรือโรงเรียนสอนขับรถไฟฟ้าที่พร้อมรองรับ

นอกจากนี้ ตามมติ ครม. ได้เห็นชอบให้มีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมารองรับการพัฒนารถไฟความเร็วสูง (กทม.-โคราช) และมีนโยบายให้จัดทำสถาบันวิจัยเทคโนโลยีระบบราง โดยมองว่าพื้นที่บริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงคลองบางไผ่ เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการเป็นที่ตั้งของสถาบันวิจัยเทคโนโลยีระบบราง ซึ่งขณะนี้เรื่องการเข้าใช้พื้นที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงคมนาคม และหากพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง สถาบันวิจัยเทคโนโลยีระบบราง (องค์กรมหาชน) แล้วเสร็จ ก็สามารถดำเนินการได้ทันที โดยจะเห็นความคืบหน้าที่ชัดเจนภายในปี 2562

นายไพรินทร์ กล่าวต่อว่า ในวันที่ 10 ส.ค. จะลงพื้นที่โครงการก่อสร้างรถส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค และ บางซื่อ-ท่าพระ) โดยขณะนี้พบว่าการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณเดินรถคืบหน้ากว่า 60% แล้ว หากเสร็จเร็วอาจจะเปิดให้บริการได้ก่อนกำหนด คาดว่าจะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการก่อนในช่วงกลางปีหน้า และเปิดให้บริการจริงเดือนส.ค. ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมในเดือนก.ย. 2562 ส่วนเส้นทางบางซื่อ-ท่าพระ ยังคงเป็นไปตามกำหนดการเดิมคือเปิดให้บริการในปี 2563

ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาส ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย หัวลำโพง-บางแคและ เตาปูน-ท่าพระ ว่า งานด่อสร้างโยธาขณะนี้มีความคืบหน้าไปกว่า 99.26% ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่า ช่วงหัวลำโพง-บางแค จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการได้เร็วกว่าแผน มาเป็นเปิดให้บริการช่วง 12 ส.ค. 2562 โดยจะมีการเปิดทดลองก่อน 2 เดือน คือเดือนมิ.ย. 2562 จากเดิมตามกำหนดเปิดให้บริการในเดือนส.ค. 2562 ส่วน เตาปูน-ท่าพระ เปิดให้บริการได้ เดือนเม.ย. 2563

นอกจากนั้นในส่วนของความคืบหน้าการรับมอบขบวนรถ จำนวน 35 ขบวน เพื่อมาให้บริการในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายนั้น เบื้องต้นรถจะส่งมอบมาปลายปี 2561 ต้นปี 2562 ก่อน 3 ขบวน โดยรถที่มีการส่งมอบมาก่อนที่สายสีน้ำเงินต่อขยายจะเปิดให้บริการ รฟม. จะนำรถมาเสริมในเส้นทางที่ให้บริการอยู่ก่อนเพื่อเสริมเที่ยววิ่ง และลดความถี่ของขบวนรถลง เนื่องจากรถ 1 ขบวนสามารถรองรับ บริษัทใช้บริการได้ถึง 3,000 คน หากรับมอบมา 3 ขบวน จะรองรับผู้โดยสารได้กว่า 9,000 คน และความถี่ที่ให้บริการในปัจจุบันด้วยกันปล่อยขบวนรถจะอยู่ที่ 3 นาที หากมีรถเข้ามาเพิ่ม ความถี่จะปล่อยรถจะลดลงเหลือ 2.5 นาที และเมื่อมีการรับมอบครบตามจำนวน 35 ขบวน ความถี่ในการปล่อยขบวนรถจะเหลือเพียง 2 นาทีเท่านั้น

นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาจราจรตลอดแนวเส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เส้นทาง ลาดพร้าว-สำโรง ตลอดเส้นทางถนนลาดพร้าว ขณะนี้ทาง รฟม. ได้มีการประสานงานกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อเร่งย้ายเสาไฟฟ้า ระบบท่อระบายน้ำตลอดเส้นทางถนนลาดพร้าว เพื่อรองรับการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง รวมถึงเร่งสร้างทางเบี่ยงสำหรับจุดรถโดยสารสาธารณะ รถเมล์ รถแท็กซี่ ตลอดเส้นทาง เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัด ซึ่งการก่อสร้างจุดเบี่ยงจะทำในทุกป้ายรถเมล์ตลอดแนวเส้นทาง

ส่วนการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่) บริเวณแยกรัชโยธิน ซึ่งการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดทางแยก ขณะนี้การก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ คาดว่าจะเปิดใช้งานได้ภายในเดือนต.ค. 2561 นี้ และจะสามารถเปิดใช้งานถนนพหลโยธินได้ตามปกติภายในสิ้นปี 2561 ซึ่งถือว่าเร็วกว่าแผนที่วางไว้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน