นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนรู้สึกกังวล และอยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์ตลาดการเงินโลกอย่างใกล้ชิด หลังจากเกิดเหตุการณ์ค่าเงินตุรกีอ่อนค่าลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ส่งออก-นำเข้า เนื่องจากการเคลื่อนค่าเงินของตุรกี จะกระทบค่าเงินโดยรวมในตลาดโลกเป็นลูกโซ่ ส่วนหนึ่งเป็นคู่ค้ากับประเทศไทยหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มยุโรป อินโดนีเซีย สหรัฐฯ จึงต้องติดตาม เพื่อรองรับสถานการณ์ต่อไป ขณะที่ค่าเงินบาทอาจกระทบสั้นๆ เพราะสถานะการเงินของไทย ค่อนข้างแข็งแกร่ง

ด้านนายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า เบื้องต้นประเมินวิกฤตค่าเงินลีราของตุรกียังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อไทยมากนัก เพราะปริมาณการค้าการลงทุนระหว่างไทย-ตุรกีมีความเชื่อมโยงกันน้อย โดยปี 2560 ที่ผ่านมาไทยส่งออกไปตุรกี 1,254 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.5% ของมูลค่าการส่งออกของทั้งปีที่ผ่านมา นำเข้าจากตุรกี 250 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ครึ่งแรกของปีนี้ไทยส่งออกไปตุรกี 644 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้าจากตุรกี 157 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการค้า การลงทุน และภาคอุตสาหกรรมไทย

“ต้องยอมรับว่าวิกฤตการเงินตุรกีอาจส่งผลกระทบต่อตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกในระยะสั้น โดยเฉพาะผลกระทบโดยตรงต่อประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีความเชื่อมโยงกันทุกมิติ แต่มั่นใจว่าจะไม่ส่งกระทบโดยตรงต่อไทย ทั้งนี้ต้องจับตาดูผลกระทบทางอ้อมจากอียูที่มีความอ่อนไหวมากจากวิกฤตครั้งนี้ เพราะไทยมีธุรกรรมการเงิน การค้าและการลงทุนกับอียูเป็นหลัก”

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ติดตามสถานการณ์ในตลาดการเงินโลกอย่างใกล้ชิดจากเหตุการณ์ในประเทศตุรกี ความเชื่อมโยงทางการค้า การลงทุน และการเงินของไทยกับประเทศตุรกียังไม่สูงมาก ผลกระทบต่อตลาดการเงินไทยจึงอยู่ในวงจำกัด โดย ธปท. จะติดตามผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ และช่องทางการส่งผ่านต่างๆ เพื่อประกอบการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

ด้านนายวิกิจ ถิรวรรณ ผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.บัวหลวง กล่าวว่า ภาพตลาดหุ้นไทยผันผวน มากขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่แล้ว จากแรงขายหลังบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ประกาศงบการเงินไตรมาส 2 ปี 2561 ใน บจ.ที่งบตามคาด และงบแย่กว่าคาด ทำให้กดดันราคาหุ้นรายตัว ขณะที่ภาวะตลาดต่างประเทศ มีความเสี่ยงเรื่องความผันผวนของค่าเงินตุรกีที่อ่อนค่าลงหนักซ้ำเติมบรรยากาศการซื้อขายหุ้นในตลาด

อย่างไรก็ดี จากการที่บริษัทได้วิเคราะห์งบการเงิน 24 บจ. โดยมี 6 บจ. กำไรดีกว่าที่คาดการณ์ เช่น UTP CPF SAT STEC SVI ORI และอีก 6 บจ.กำไรแย่กว่าคาด ส่วนที่เหลือเป็ไปตามคาด อย่างไรก็ดี เมื่อย้อนกลับไปดูเหตุการณ์หลังงบออกทุกรอบ หุ้นที่จะขึ้นดีกว่าสำหรับตลาดจากนี้ไปจะโฟกัสไปที่ มุมมองของผู้บริหารจากการให้ข้อมูลในการประชุมนักวิเคราะห์ ซึ่งบัวหลวงได้มองแนวโน้มอนาคต ไตรมาส 3 ผ่านการประกาศงบไตรมาส 2 ที่ออกมา เชื่อว่า มุมมองผู้บริหารในกลุ่มต่อไปนี้ น่าจะ ส่งผลเชิงบวกต่อราคาหุ้น ในระยะสัปดาห์-เดือน ได้แก่ กลุ่มที่มีทิศทางสดใส หรือซันไรส์ กลุ่มโรงพยาบาล, อสังหาฯ, ขนส่งทางบก, โฆษณานอกบ้าน, ค้าวัสดุก่อสร้าง และวัสดุก่อสร้าง, ปิโตรเคมี-โรงกลั่น

ส่วนกลุ่มที่มีทิศทางขาลง หรือซันเซ็ต ค้าปลีก อาหาร-ของชำ, ทีวีดิจิตอล, สายการบิน เป็นต้น โดยคาดว่าจะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสปรับขึ้นน้อยกว่าตลาด (Underperform)

สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามจากนี้ อยู่ที่การทรุดตัวลงของค่าเงินลีรา ประเทศตุรกี ซึ่งอาจจะส่งผลลุกลามไปยังเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ อื่นๆ โดยธนาคารกลางยุโรปได้แสดงความกังวลว่าการร่วงลงของค่าเงินลีราจะกระทบต่อธนาคารยุโรป ด้านนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังคงกดดันตุรกีต่อเนื่อง ด้วยการประกาศเพิ่มอัตราภาษีต่อเหล็กและอลูมิเนียมขึ้นอีกสองเท่า ขณะที่ปัจจัยที่จะส่งผลบวกและลบต่อดัชนีตลาดหุ้นไทยจากนี้ อยู่ที่การประชุมนักวิเคราะห์จองบริษัทจดทะเบียนต่างๆ เพื่อให้มุมมองทิศทาง อุตสาหกรรม และแนวโน้มรายได้ ในช่วงที่เหลือของปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน