นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือPTT เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกปี 2561 ของปตท. และบริษัทในกลุ่มมีกำไรสุทธิรวม 69,817 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.89% คิดเป็นกำไร 2.43 บาทต่อหุ้น เนื่องจากรายได้จากกองทุนลดลงหลังมีการขายกองทุนรวม EPIF ออกไป

นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งยังเป็นผลจากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศลดลงจาก 7,822 ล้านบาท เป็น 2,276 ล้านบาท จากเงินบาทอ่อนค่าลง ภาษีเงินได้ครึ่งแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 14,650 ล้านบาท จากครึ่งแรกของปีก่อนอยู่ที่ 11,951 ล้านบาท เป็น 26,601 ล้านบาท ซึ่งหากพิจารณาผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2561 เฉพาะในส่วนของ ปตท. มีกำไร 33,218 ล้านบาท

“ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ราคาน้ำมันน่าจะขยับขึ้นเล็กน้อยจากปัจจุบันอยู่ที่ 70 เหรียญสหรัฐ และคาดว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ราคาจะเคลื่อนไหวไม่ผันผวน โดยทรงตัวอยู่ในระดับบวก/ลบ 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลไปจนถึงสิ้นปีนี้ ทำให้ทั้งปีเคลื่อนไหวเฉลี่ยอยู่ที่ 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 3 ปีก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล”นายเทวินทร์ กล่าว

ด้านนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ปตท. กล่าวถึงความคืบหน้าการประมูลรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ ดอนเมืองและสนามบินอู่ตะเภา) ว่า โครงการนี้เป็นนโยบายของภาครัฐ ซึ่ง ปตท. ได้มอบให้บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด (ประเทศไทย) หรือเอ็นโก้ (ENCO) ซื้อซองแล้ว อยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาศึกษารายละเอียด ยังไม่มีสรุปว่าเอ็นโก้จะลงทุนหรือไม่ ลงทุนกับใคร คาดว่าจะได้ข้อสรุปก่อนเปิดให้มีการประมูลในช่วงเดือนพ.ย. 2561

“การลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินต้องดูปัจจัยต่างๆ ประกอบการพิจารณาในระยะยาว ซึ่ง ปตท. มีการลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่องตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัด (ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา) อาทิ น้ำมัน ไฟฟ้าในป้อนให้สนามบิน จึงต้องดูว่าเหมาะสม คุ้มค่าในการลงทุน ต่อยอดกับธุรกิจที่มีอยู่แล้วในเครือของปตท. หรือไม่ โดยเฉพาะจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติหรือไม่ แม้จะยอมรับว่า ปตท. ไม่ได้เก่งเรื่องธุรกิจรถไฟ หรือการเดินรถ แต่ปัจจุบันก็มีบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญและชำนาญเฉพาะทางอยู่จำนวนมากจากทั่วโลก ซึ่งปตท. ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะร่วมลงทุนกับบริษัทใดจากประเทศใดในลักษณะใดหรือไม่”นายชาญศิลป์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ในส่วนของ ปตท. มีความสนใจในการลงทุนให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ต ซิตี้) ด้านการใช้พลังงานในพื้นที่ ซึ่งจะร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทั้งนี้ จะเป็นการเปิดประมูลในรูปแบบรัฐร่วมกับเอกชน หรือพีพีพี (PPP) ให้เอกชนเข้ามาพัฒนาพื้นที่ โดยต้องขอเวลาศึกษาแผนพัฒนาของรฟท. และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ให้มีความชัดเจนก่อนจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ปตท. พิจารณา คาดว่าจะมีความชัดเจนในการดำเนินงานภายในปี 2562

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน