สศช.โชวจีดีพีไตรมาส 2/2561 ขยายตัวต่อเนื่อง 4.6% ยืนคาดการณ์ทั้งปีที่ 4.5% ได้อานิสงส์ส่งออกขยายตัวสูง 10% ด้านคลังเห็นพ้อง เร่งเพิ่มรายได้ภาคเกษตร-ฐานรากดันจีดีพีทั้งปีถึง 5% ส่วนแบงก์ชาติสบจังหวะเศรษฐกิจฟื้นตัวจ่อขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2561 ขยายตัว 4.6% ต่อเนื่องจากไตรมาส 1/2561 ที่ขยายตัว 4.9% ส่งผลให้ครึ่งปีแรก เศรษฐกิจขยายตัว 4.8% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 4.5% การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคของรัฐบาลขยายตัว 1.4% การลงทุนรวมเพิ่มขึ้น 3.6% โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 3.2% และการลงทุนภาครัฐขยายตัว 4.9% ขณะที่การส่งออกขยายตัว 12.3% โดยคาดว่าปีนี้มูลค่าการส่งออกจะขยายตัว 10% เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 8.9%

ทั้งนี้ คาดว่าช่วงที่เหลือของปีนี้เศรษฐกิจจะขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ทั้งปีขยายตัวได้ 4.5% ในช่วงคาดการณ์ 4.2-4.7% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกและภาคการผลิต การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนที่มีแนวโน้มเร่งตัว การลงทุนเอกชนที่ฟื้นตัวชัดเจน และการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงจะต้องติดตามผลกระทบในภาคเกษตรจากปัญหาอุทกภัย ฐานการขยายตัวในสาขาการผลิตสำคัญๆ ตั้งแต่ปี 2560 อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกที่เริ่มปรับตัวขึ้น และมาตรการกีดกันทางการค้าที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

นายทศพร กล่าวว่า การบริหารนโยบายจากนี้ ต้องมุ่งสนับสนุนการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนภาคเอกชน การขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมาย โดยเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนในพื้นที่อีอีซี การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย สร้างความเข้มแข็งให้เอสเอ็มอีและเศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งการเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพให้เพียงพอรองรับต่อการขยายตัวภาคการผลิตและการลงทุน

นายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขา สศช. กล่าวว่า สำหรับปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศ จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากในช่วงที่ประเมินผลจีดีพีไตรมาส 2/2561 ผลกระทบของน้ำท่วมอยู่ในวงจำกัด แต่ก็เชื่อว่าจะไม่ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรของไทยในปีนี้ติดลบเมื่อเทียบกับสถานการณ์น้ำท่วมเมื่อปี ขณะเดียวกัน ไทยต้องใช้โอกาสจากมาตรการกีดกันทางการค้า เพื่อเพิ่มการส่งออกและหากมาตรการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และเร่งผลักดันการท่องเที่ยวที่ปรับประมาณการปีนี้ลงเหลือ 38.8 ล้านคนจาก 39 ล้านคน จากเหตุการณ์เรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต และช่วงฟุตบอลโลก แต่น่าจะส่งกระทบต่อภาพลักษณ์ช่วงระยะสั้น และเชื่อว่านักท่องเที่ยวไทยยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง

นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2/2561 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานครึ่งปีขยายตัวได้ 4.8% และทั้งปีจะขยายตัวได้ 4.2-4.7% แสดงให้เห็นว่าการขยายตัวภาพรวมขยายตัวได้ดี แต่ยังดีบางอุตสาหกรรมเท่านั้น โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับพลังงานเนื่องจากราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้นมาก

“คลังเชื่อว่าเศรษฐกิจทั้งปีจะขยายตัวได้มากกว่า 4.8% ที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยเป้าหมายของคลังพยายามทำให้เศรษฐกิจถึง 5% โดยการเพิ่มรายได้เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย โดยการทำให้ราคาพืชผลสูง จะทำให้เศรษฐกิจภาพรวมครึ่งปีหลังขยายตัวสูงต่อเนื่องไม่น้อยกว่าครึ่งปีแรก” นายสุวิชญ กล่าว

นายสุวิชญ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่ขยายตัวทุกภาคส่วน โดนเฉพาะเศรษฐกิจฐานรากยังลำบาก ซึ่งรัฐบาลได้พยายามทำมาตรการช่วยให้ราคาพืชผลทางการเกษตรสูงอย่างยั่งยืน มีแผนการเพาะปลูกอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะเกษตรกรยังชอบปลูกพืชตามกัน เช่น การปลูกปาล์มน้ำมันจนราคาตก ตอกนี้แห่ปลูกทุเรียนกันจำนวนมากอีกไม่นานก็จะมีปัญหาราคาตกอีก

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้จากภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดในต่างประเทศ สร้างความเสียหายทางการเกษตรและเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นวิกฤตที่ส่งผลดีกับภาคเกษตรกรไทย ทำให้ขายสินค้าได้เพิ่มมากขึ้นและราคาสูงขึ้น

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2/2561 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าขยายตัวได้ 4.6% สอดคล้องกับที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ โดยการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือน ก.ย.นี้ จะมีการทบทวนตัวเลขประมาณการใหม่อีกครั้ง จากที่คาดการณ์ล่าสุดว่าจะขยายตัวได้ 4.4% ในปี 2561

ทั้งนี้ การฟื้นตัวเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชัดเจนขึ้น ส่งผลให้ความจำเป็นในการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ ลดน้อยลง โดยเฉพาะในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยของประเทศอุตสาหกรรมหลัก เริ่มมีทิศทางปรับขึ้นต่อเนื่อง ไทยก็ไม่สามารถใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยสวนทางได้ ซึ่งการปรับดอกเบี้ยจะต้องพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมอีกครั้ง

นายวิรไท กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน ธปท.จะพิจารณาหลายปัจจัย ได้แก่ 1.ทิศทางอัตราเงินเฟ้อ ซึ่ง ธปท. เพราะนโยบายการเงินใช้เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก 2.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 3.เสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งการใช้ดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน จะส่งผลข้างเคียง เช่น มีการออมในระดับต่ำ พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทน ภาคอสังหาริมทรัพย์มีการเก็งกำไร 4.ความสามารถในการทำนโยบายการเงินในอนาคต ที่จะต้องมีกระสุนพร้อมใช้

“ถ้า ธปท.มีความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยบ้าง ก็ไม่ได้หมายความว่า ธปท.จะไม่ได้ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพียงแต่ว่า ไม่ได้ทำนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษเท่านั้น”นายวิรไท กล่าว

สำหรับกรณีวิกฤตเศรษฐกิจตุรกีนั้น ส่งผลต่อความกังวลกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งตุรกีมีปัญหาค่าเงินอ่อน ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด หนี้ต่างประเทศสูง เงินทุนสำรองต่ำ ซึ่งเกิดผลกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุน ในส่วนของไทย ผลกระทบโดยตรงยังอยู่ในขอบเขตจำกัด เพราะมีการทำธุรกรรมโดยตรงน้อย อีกทั้งไทยยังมีฐานะต่างประเทศแข็งแกร่ง จะให้ได้จาก 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทมีการผันผวนน้อยมาก

อย่างไรก็ดี ความผันผวนตลาดเงินตลาดทุน และค่าเงินในระยะต่อไปยังมีต่อเนื่อง และรุนแรงมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัจจัยจากต่างประเทศ ที่ไม่สามารถกำหนด ควบคุมได้ เช่น ทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยประเทศอุตสาหกรรมหลัก มุมมองของนักลงทุนต่อนโยบายกีดกันการค้า ปัญหาประเทศตุรกี ความมั่นใจในเศรษฐกิจจีนจากปัญหาสงครามการค้า เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน