เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ (พณ.) กล่าวในการสัมมนา “ทางเหลือ-ทางรอด SMEs ยุค 4.0” ซึ่งจัดโดย นิตยสาร”เส้นทางเศรษฐี” ในเครือบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ว่า จากการติดตามนิตยสาร”เส้นทางเศรษฐี” มาโดยตลอด พบว่า เป็นสื่อที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมผู้ประกอบการมาอย่างยาวนาน ซึ่งตรงกับนโยบายของรัฐบาลที่มีนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้เติบโตและอยู่รอดเพราะโดยเฉลี่ยแล้ว อายุเอสเอ็มอีจะอยู่รอดได้แค่ 3-5 ปี เท่านั้น เนื่องจากยังขาดแคลนด้านเงินทุน ความสามารถในการบริหารจัดการ บุคลากร

แต่ก็มีข้อดีคือผู้ประกอบการมีกลไกที่เข้มแข็งในการดิ้นรนในการเอาตัวรอดแม่จะมีข้อจำกัดในหลายอย่าง ดังนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีถือว่าเป็นคนเก่งในการเอาตัวรอด รัฐบาลจึงมุ่งมั่นจะช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการให้อยู่รอดด้วยการเป็นผู้ประกอบการที่ก้าวไปสู่ต่างประเทศ หรือ Global Smes โดยผ่านการค้าออนไลน์ หรือ E- commrece ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วจากการขายทุเรียนกว่า 80,000 ลูก ผ่านเวบไซต์ อาลีบาบาในเวลาไม่กี่นาทีในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการขายโดยตรงจากสวนสู่ผู้บริโภคในจีน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การค้าออนไลน์ไม่ใช่สิ่งที่ไกลตัวหรือยุ่งยากอีกต่อไปแต่ถือเป็นสิ่งที่เอสเอ็มอีต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด เพราะตลาดในอนาคตไม่ใช่แค่60 ล้านคนในประเทศอีกต่อไป แต่คือคนทั้งโลก ซึ่งเป็นการปรับตัวของเอสเอ็มอีในยุคปัจจุบัน รวมทั้ง การสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าของตนเองสร้างนวัตกรรมเพื่อไม่ให้ผลิตภัณฑ์ซ้ำกับสินค้าของรายอื่น การรวมกลุ่มกับผู้ประกอบการรายอื่น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเอง เป็นต้น

นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้ส่งเสริมผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง ผ่านหลายโครงการภายใต้หน่วยงานสังกัดกระทรวงพาณิชย์ และอยากให้เอสเอ็มอีไปใช้บริการ เช่น โครงการส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs Pro-active) โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ ในระยะที่ 3 (ปีงบประมาณ 2562-64) เพื่อขยายฐานการสนับสนุนผู้ประกอบการและอำนวยความสะดวกในการเข้าร่วมโครงการและขอรับบริการ

สำหรับระยะที่ 3 เพื่อเปิดโอกาสแก่ผู้ใช้สิทธิ์รายเก่าที่ใช้สิทธิ์ครบจำนวนจากระยะก่อนหน้า รวมถึงแก้ไขคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการเป็นนิติบุคคลที่มีมูลค่าส่งออกเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีไม่เกิน 500 ล้านบาท เพื่อขยายฐานการสนับสนุนให้ครอบคลุมผู้ประกอบการมากขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสให้ผู้เริ่มต้นธุรกิจใหม่ ซึ่งส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านกิจกรรมเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและบริการในต่างประเทศ ‘Oversea trade exhibitions’ จำนวน 6 ครั้ง โดยได้รับวงเงินสนับสนุนสูงสุดรายละ 200,000 บาท
และกิจกรรมสร้างโอกาสทางการค้าและเครือข่ายทางธุรกิจในต่างประเทศ ‘Business Opportunities and Partnership’ ประกอบด้วยกิจกรรมเจรจาการค้า (Business Matching) และกิจกรรมนำเสนอผลงาน (Business Pitching) เพื่อขายและ/หรือระดมเงินทุน เช่น การประกวดภาพยนตร์และสารคดีในต่างประเทศ จำนวน 6 ครั้ง และได้รับวงเงินสนับสนุนสูงสุดรายละ
200,000 บาท

รวมทั้งการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (New Economy Academy : NEA) ซึ่งมีการเปิดอบรม ให้ความรู้ผู้ประกอบการรายใหม่ๆ Start up ให้เติบโตและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งอยากให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสไปบริการ นอกจากนี้ในส่วนของกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ยังมีฐานข้อมูลเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าไปสืบค้นสิ่งประดิษฐ์ว่าซ้ำกับของคนอื่นหรือไม่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ทำหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกใหกับผู้ประกอบการในการจดทะเบียนธุรกิจ และการประกอบธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน