สนข.ชงรถไฟฟ้ารางเบา‘ขอนแก่น-พิษณุโลก’ ราว 7 หมื่นล้าน ให้ คจร. ไฟเขียว ก.ย.นี้ ส่วนเชียงใหม่เริ่มก่อสร้างปี 64 สายแรกสีแดง แนวทิศเหนือ-ใต้ ดึงรถสองแถวแดงเป็นฟีดเดอร์ร่วมระบบตั๋วแมงมุม เร่งศึกษารถไฟฟ้าอุดรเพิ่ม

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนและการจราจร (สนข.) เปิดเผยภายหลังนำสื่อมวลชนศึกษาและสำรวจเส้นทาง โครงการรถไฟฟ้าเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 8-9 ก.ย. ที่จังหวัดเชียงใหม่ ว่า เดือน ก.ย.นี้ จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) อนุมัติแผนแม่บทระบบขนส่งสาธารณะ ประเภทรถไฟฟ้ารางเบาระดับพื้นดิน (Tram) ในจ.ขอนแก่น วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท และจ.พิษณุโลก 2.4 หมื่นล้านบาท พร้อมโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ของขอนแก่นลงทุน ส่วนพิษณุโลกโอนให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการ

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าในต่างจังหวัดที่ คจร. เห็นชอบแล้ว ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต นครราชสีมา โอนให้ รฟม. ดำเนินการต่อทั้งหมด โดยภูเก็ตเอกชนและท้องถิ่นเริ่มตั้งบริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง เข้าร่วมพัฒนา ส่วนโคราชและเชียงใหม่ อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมรูปแบบการให้เอกชนร่วมทุนรูปแบบพีพีพี

ส่วนของเชียงใหม่ตามแผนแม่บท จะก่อสร้าง 3 เส้นทาง ราว 1 แสนล้านบาท แต่มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ จึงก่อสร้างเส้นทางแรก หรือสายสีแดงก่อน แนวทิศเหนือ-ใต้ ผ่านรพ.นครพิงค์ ศูนย์ราชการเชียงใหม่ สนามกีฬา 700 ปี เชื่อมเข้าสนามบิน สิ้นสุดห้างบิ๊กซีหางดง ระยะทางประมาณ 12 กม. ลงทุน 2.4 หมื่นล้านบาท คาดครม.อนุมัติ เปิดประมูลปลายปี 2563 เริ่มก่อสร้างปี 2564 เปิดให้บริการปี 2570 นับจากตั้งแต่นี้เป็นต้นไป สนข. จะเริ่มสร้างการรับรู้เรื่องรถไฟฟ้ารางเบาระดับพื้นดิน ให้ประชาชนในท้องถิ่น จ.เชียงใหม่ เพื่อให้ประชาชนรู้สึกมีส่วนร่วม

ขณะเดียวกันจะดึงกลุ่มรถสองแถวแดง จ.เชียงใหม่ เข้ามามีส่วนร่วม โดยจะปรับปรุงเส้นทางเพื่อให้รถแดงกลายเป็นระบบขนส่งผู้โดยสารไปยังรถไฟฟ้า (Feeder) ซึ่งเบื้องต้นกลุ่มรถแดงเห็นด้วยแล้ว และพร้อมเปลี่ยนเส้นทางตามนโยบายดังกล่างซึ่ง สนข. เตรียมให้รถสองแถวแดงเข้าร่วมระบบบัตรแมงมุมด้วนเเพื่อให้ประชาชนเปลี่ยนโหมดการเดินทางแบบไร้รอยต่อ

นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า ในต่างประเทศยังมีการออกแบบแทรมให้เข้ากับเอกลักษณ์หรือบรรยากาศของท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น ในฝรั่งเศสมีการออกแบบหัวรถแทรมเป็นแก้วไวน์ ซึ่งก็สามารถใช้โมเดลนี้ในประเทศไทยด้วย
ทั้งนี้ ยอมรับว่า มีความกังวลในการขุดดินเพื่อก่อสร้างทางช่วงใต้ดิน เพราะเชียงใหม่เป็นเมืองเก่าอายุ 700 ปี ต้องขุดด้วยความระมัดระวังหากเจอวัตถุโบราณใต้ดิน ก็มีแนวคิดที่จะสร้างเป็นพิพิธฑภัณฑ์บริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อทำเป็นสถานที่จัดแสดงวัตถุโบราณให้คนรุ่นหลังได้ดู

นอกจากนี้ กำลังเร่งศึกษารถไฟฟ้าในจ.อุดรธานี โดยจะหารือร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการบินพลเรือน (กพท.) ก่อสร้างระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมต่อกับสนามบินด้วย โดยเฉพาะสนามบินเชียงใหม่ และภูเก็ตแห่งที่ 2 จะต้องมีการวางแผนงานก่อสร้างรถไฟฟ้าเชื่อมสนามบิน พร้อมกับการสร้างสนามบิน ป้องกันปัญหาจราจรแออัดในอนาคต

โครงการรถไฟฟ้าต่างจังหวัดเหล่านี้ ดึงดูดความสนใจของนักลงทุนด้านระบบจากหลายประเทศ เช่น จีน ฝรั่งเศส สเปน และเกาหลีใต้ ซึ่งประเทศเหล่านี้มีเทคโนโลยีที่ดี และความพร้อมด้านอะไหล่ ควรเปิดกว้างให้นักลงทุนเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน