นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. นัดพิเศษ มีมติเห็นชอบโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร และการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มตลอดเส้นทาง ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี วงเงินรวม 1.43 แสนล้านบาท โดยจะสรุปเรื่องเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาในสัปดาห์นี้ คาดว่าในเดือนต.ค.-พ.ย. จะเสนอให้คณะกรรมการพีพีพีเห็นชอบ และเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ในภายในปีนี้และเปิดประมูลในปี 2562 และ เปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ได้ก่อน ในปี 2566 ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ จะเปิดให้บริการในปี 2568

สำหรับโครงการมีวงเงินลงทุนรวม 1.43 แสนล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเกือบ 1.5 หมื่นล้านบาท, ค่าก่อสร้างงานโยธา 9.6 หมื่นล้านบาท และค่างานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถ การเดินรถ 3.2 หมื่นล้านบาท การลงทุนใช้รูปแบบเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP Net Cost จำนวน 1 สัญญา โดยเอกชนต้องแข่งขันยื่นข้อเสนอด้านผลประโยชน์ เอกชนจะลงทุนค่าก่อสร้างงานโยธา 96,000 ล้านบาทเองก่อน จากนั้นรัฐบาลจะทยอยคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้ภายใน 10 ปี นับตั้งแต่รถไฟฟ้าสายสีส้มเปิดให้บริการ โดยเอกชนจะต้องแข่งขันว่ารายใดจะเสนอต้นทุนค่าก่อสร้างและอัตราดอกเบี้ยในอัตราต่ำกว่ากัน

ส่วนงานระบบอาณัติสัญญาณ ขบวนรถ และงานเดินรถ วงเงิน 3.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเอกชนจะต้องเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด โดยเอกชนต้องแข่งกันยื่นข้อเสนอว่ารายใดจะรับผลประโยชน์จากค่าโดยสารและพื้นที่เชิงพาณิชย์ต่ำกว่ากัน เพราะยิ่งเอกชนรับผลประโยชน์ต่ำเท่าไหร่ ก็จะทำให้รัฐบาลได้รับผลประโยชน์ส่วนที่เหลือมากขึ้นเท่านั้น

ทั้งนี้ รฟม. จะมอบพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในโครงการให้เอกชนบริหารทั้งหมด เพราะการลงทุนแบบ PPP Net Cost ที่ผ่านมา ก็รวบรวมงานทั้งหมดให้เป็นสัมปทานอยู่แล้ว แตกต่างจากการลงทุนรูปแบบ PPP Gross Cost ที่รัฐบาลจะจ้างเอกชนลงทุน แต่บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ด้วยตัวเอง

นอกจากนี้ รฟม. เตรียมเสนอ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) หรือรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ วงเงิน 101,112 ล้านบาท ให้ที่ประชุมบอร์ดพิจารณาในปลายเดือนก.ย.นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน