นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง มีนโยบายให้เริ่มเปิดขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ : ทีเอฟเอฟ) ภายในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนต.ค. 2561 หลังจากได้มีการยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟล์ลิ่ง) กับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไปแล้ว และคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในช่วงปลายเดือนนี้

โดยในวันที่ 16-20 ก.ย. 2561 จะเดินทางไปให้ข้อมูลนักลงทุน (โรดโชว์) ที่ประเทศสิงคโปร์และฮ่องกง ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับความสนใจและสามารถเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นการยืนยันความชัดเจนและความคืบหน้าของโครงการลงทุนที่กำลังดำเนินการ และโครงการต่อๆ ไปของประเทศไทย

“ตามแผนจะระดมทุนผ่านทีเอฟเอฟก้อนแรกอยู่ที่ 4-4.5 หมื่นล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดสัดส่วนนักลงทุนรายย่อย และรายใหญ่ รวมถึงผลตอบแทน ซึ่งรมว.คลัง มีนโยบายชัดเจนว่าการระดมทุนครั้งนี้ต้องการให้นักลงทุนรายย่อยได้ประโยชน์มากที่สุด ดังนั้นตามแผนก็จะเปิดขายหน่วยลงทุนให้กับรายย่อยตามสัดส่วนที่กำหนดก่อน จึงจะทยอยเปิดขายให้กับนักลงทุนสถาบันและรายใหญ่ที่สนใจ ซึ่งหลักๆ จะเน้นที่นักลงทุนในประเทศมากกว่า เพราะมีจำนวนมากอยู่แล้ว โดยตามแผนก็จะมีการเดินสายโรดโชว์ตามจังหวัดสำคัญภายในประเทศ อาทิ ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น เป็นต้น” นายประภาศ กล่าว

สำหรับการระดมทุนผ่านกองทุนทีเอฟเอฟ ระยะที่ 2 นั้น ตามแผนจะเป็นโครงการของกรมทางหลวง ได้แก่ โครงการทางพิเศษ (มอเตอร์เวย์) สาย 7 กรุงเทพฯ-บ้านฉาง เส้นทางช่วงพัทยา-มาบตาพุด และมอเตอร์เวย์ สาย 9 บางปะอิน-บางพลี โดยกรมทางหลวงอยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมายเรื่องค่าสัมปทานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ และคาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเร็วๆ นี้ ส่วนวงเงินที่จะระดมทุนอยู่ระหว่างการพิจารณา

นายประภาศ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการพีพีพี) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการโครงการทางหลวงสัมปทานสายนครปฐม-ชะอำ (เอ็ม8) ของกรมทางหลวง ภายใต้มาตรการ PPP Fast Track มูลค่าเงินลงทุนรวม 7.9 หมื่นล้านบาท ในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และร่วมลงทุนในกรอบวงเงินไม่เกินค่าโยธา จำนวน 5.58 หมื่นล้านบาท ส่วนภาคเอกชนลงทุนค่าก่อสร้างโยธา ค่าก่อสร้างงานระบบและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนรับผิดชอบการดำเนินงานและบำรุงรักษา ในระยะเวลาดำเนินโครงการ 30 ปี นับจากเปิดให้บริการ

นอกจากนี้ คณะกรรมการพีพีพี ยังเร่งรัดให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินโครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลา โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-วงแหวนกาญจนาภิเษก และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงินลงทุนรวม 3.66 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจะเสนอให้คณะกรรมการพีพีพี พิจารณาได้ภายในเดือนพ.ย. หรืออย่างช้าต้นเดือนธ.ค. 2561

อย่างไรก็ดี ยังได้ติดตามโครงการระบบขนส่งมวลชนในหัวเมืองต่างๆ ได้แก่ โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ และโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการกระจายการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปสู่ภูมิภาค และบรรเทาปัญหาการจราจรหนาแน่นในหัวเมืองหลัก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน