รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2561 เห็นชอบวงเงินอุดหนุนบริการสาธารณะประจำปีงบประมาณ 2562 แก่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รวม 5,585 ล้านบาท โดยให้ ขสมก. และ รฟท. รายงานภาระที่รัฐต้องรับชดเชย ต่อสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เพื่อจัดเก็บข้อมูลยอดคงค้างค่าใช้จ่ายและการสูญเสียรายได้ในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามมาตรา 28 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ ต่อไป

ทั้งนี้ การให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะดังกล่าวแยกเป็นเงินอุดหนุนแก่ ขสมก. 2,251.64 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าข้อเสนอที่ ขสมก. เสนอมา 3,277.28 ล้านบาท ซึ่งเหตุผลที่คณะกรรมการเงินอุดหนุนบริการสาธารณะได้พิจารณาปรับลดก่อนเสนอต่อครม.นี้ คือ การตัดเงินอุดหนุนบริการในส่วนรถสาธารณะ เนื่องจากการให้บริการดังกล่าวนั้นไม่มีหลักฐานชัดว่า ขสมก. ถูกควบคุมราคาค่าโดยสารทำให้ไม่สอดคล้องกับนิยามการอุดหนุนทางการเงินตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ

นอกจากนี้ ให้ ขสมก. วางแผนการประมาณการรายได้ให้เป็นรูปธรรมโดยเฉพาะรายได้ที่จะมาจากระบบตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) ส่วนเงินอุดหนุนที่จัดสรรให้แก่ รฟท. อยู่ที่ 3,333.37 ล้านบาท โดยคณะกรรมการเงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจปรับลดจากที่ รฟท. เสนอที่ 7,598.85 ล้านบาท โดยพิจารณาลดลงจากต้นทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ ครม. ได้เห็นชอบรับภาระการลงทุนของ รฟท. ไปหมดแล้ว ต้นทุนค่าเสื่อมราคาส่วนใหญ่ก็เป็นค่าเสื่อมราคาของโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลรับภาระแล้ว ต้นทุนดอกเบี้ยรัฐบาลก็รับภาระไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังรายงานว่า ณ วันที่ 24 ส.ค. 2561 ยอดคงค้างค่าใช้จ่ายและการสูญเสียรายได้ในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการต่างๆ ของรัฐอยู่ที่ 857,431 ล้านบาท หรือ 29.6% ของงบประมาณประจำปี 2561 และเมื่อรวมภาระการชดเชย 2 หน่วยงาน จะทำให้สัดส่วนภาระการชดเชยอยู่ที่ 29.8% ซึ่งภายใต้มาตรา 28 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐนั้น ค่าใช้จ่ายและการสูญเสียรายได้ในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการต่างๆ จะต้องอยู่ที่ไม่เกิน 30% ของงบประมาณประจำปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน