รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทที่ปรึกษาคือสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ส่งรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการพัฒนา Inland Container Yard หรือไอซีดีแห่งที่ 2 และสถานีขนส่งสินค้าในรูปแบบ Hub&Spoke มาให้รฟท. แล้ว โดยสรุปว่าพื้นที่บริเวณเชียงรากน้อย จ.อยุธยา มีความเหมาะสมสูงสุดที่จะก่อสร้างเป็นไอซีดีแห่งที่ 2 โดยได้คะแนนสูงสุด 3.79 คะแนน รองลงมาคือ พื้นที่ทับยาว ลาดกระบัง จ.กรุงเทพมหานคร 3.76 คะแนน และสถานีบางกล่ำ จ.สงขลา 3.70 คะแนน เนื่องจากเป็นพื้นที่รอบล้อมไปด้วยนิคมอุตสาหกรรม คลังสินค้า และศูนย์กระจายสินค้าเอกชนหลายแห่งทำให้สามารถให้บริการได้ทั้งการนำเข้า และส่งออกและขนสินค้าในประเทศ

ทั้งนี้ จะใช้งบประมาณในการลงทุนราว 4,56,8519,215 บาท แบ่งออกเป็น งบซื้อที่ดินและปรับถมดิน 2,223,430,225 บาท ค่าออกแบบรายละเอียด ควบคุมงาน และ EIA 116,318,386 บาท ค่างานโครงสร้างพื้นฐานทางเข้า-ออก โครางการ 243,663,104 บาท อาคารและสิ่งอำนวยความสะดวก 1,462,937,500 บาท และ เครื่องมือยกขน 516,800,000 บาท และอุปกรณ์สำนักงาน 6,370,000 บาท

“โครงการนี้จะใช้งบลงทุนกว่า 4,568 ล้านบาท ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้นจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบพีพีพี โดยรัฐบาลจะรับภาระค่าเวนคืนที่ดินเพียงอย่างเดียว ส่วนอื่นให้เอกชนลงทุนก่อสร้างรวมไปถึงการบริหารงานด้วย โดยรฟท. จะให้สัมปทาน 30 ปี และจะได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าสัมปทานจากการใช้ประโยชน์ที่ดิน และคิดอัตราค่าเช่าที่ดินปีละ 2.75% คะแนน โดยโครงการภาพรวมมีผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) อยู่ที่ 42.66% ส่วนผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) สำหรับเอกชนที่ร่วมลงทุนจะอยู่ที่ 17.34 ขณะที่ FIRR ของ รฟท.จะอยู่ที่-1.70”

รายงานข่าวจาก รฟท. แจ้งว่า สำหรับพื้นที่ก่อสร้างไอซีดีแห่งที่ 2 บริเวณเชียงรากน้อยนั้นจะมีพื้นที่ราว 490 ไร่ ตั้งอยู่ใน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ระหว่างสถานีรถไฟเชียงรากน้อยและสถานีคลองพุทรา สามารถเชื่อมโยงกับทางหลวงหมายเลข 1 9 32 37 และ 108 เบื้องต้นจะมีการก่อสร้างอาคารและสิ่งก่อสร้าง 3 ประเภท คือ สถายีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) สำหรับสินค้านำเข้า-ส่งออกจำนวน 2 สถานี, สถานีรวบรวมและกระจายสินค้าภายในประเทศ สำหรับสินค้าภายในประเทศจำนวน 2 สถานี และอาคารสำนักงานและที่พัก โรงซ่อมรถจักร-รถพ่วง ทางรถไฟและระบบสาธารณูโภค

ส่วนผลการศึกษาพื้นที่ที่สร้างสถานีขนส่งสินค้าในรูปแบบ Hub &spoke สรุปว่า บริเวณ สถานีรถไฟหนองตะไก้ จ.อุดรธานี มีความเหมาะมากที่สุด โดยได้คะแนนรวมด้านวิศวกรรม โลจิสติกส์ เศรษฐศาสตร์ การลงทุน ชุมชน และสิ่งแวดล้อมสูงสุด 3.84 คะแนน รองลงมาคือ สถานีรถไฟหนองสัง จ.ปราจีนบุรี 3.73 คะแนน และสถานีบ้านพะเนา จ.นครราชสีมา 3.61 คะแนน

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า รฟท. ได้เปิดขายซองเอกชนร่วมลงทุนไอซีดี ลาดกระบัง โดยมีกำหนดออกประกาศถึงวันที่ 1 พ.ย. 2561 และกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนได้ในวันที่ 30 พ.ย.นี้ ทั้งยังคงเงื่อนไขประกวดราคาที่จะทำออกเป็น 1 สัญญา หรือเอกชนร่วมประมูลโครงการได้ 1 กลุ่ม เพราะต้องการแก้ไขปัญหาบริหารงานในพื้นที่ให้สะดวกมากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน