นายสมชาย หาญหิรัญ รมช.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายในงานสัมมนา 20 ปี สถาบันยานยนต์ ทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ ว่า สถาบันยานยนต์ ได้ตั้งศูนย์เรียนรู้รถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี ที่บางปู เพื่อให้ผู้ประกอบเอสเอ็มอี เข้ามาศึกษาเรียนรู้ชิ้นส่วนรถยนต์อีวีว่า ใช้อะไรบ้าง เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ปรับเปลี่ยนการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ปัจจุบัน เป็นชิ้นส่วนรถอีวีมากขึ้น รองรับเทคโนโลยีใหม่ เนื่องจากแนวโน้มรถยนต์ต่อไป จะปรับไปสู่รถยนต์อีวีเร็วขึ้น รวมทั้งจะให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ เข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยกระดับขีดความสามารถแข่งขันให้เอสเอ็มอี

โดยภายใน 5 ปีนับจากนี้ไป ประเทศไทยจะอยู่ในช่วงการสนับสนุนส่งเสริมให้ลงทุนผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าทุกประเภท เพื่อให้ครอบคลุมเทคโนโลยีของแต่ละค่ายที่มีทิศทางที่แตกต่างกันทั้งรถยนต์ประเทศ ไฮบริด ไฮบริดปลั๊กอิน รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ รวมถึงชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า และสถานีอัดประจุไฟฟ้าภายใต้การส่งเสริมของกระทรวงพลังงาน ตั้งเป้าหมายปี 2579 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถอีวี คิดเป็น 25% ของการผลิตทั้งหมด และมั่นใจว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย มีความพร้อมด้านบุคลากร มีซับพลายเชนที่เข้มแข็ง สามารถรักษาการเป็นฐานการผลิตสำคัญในอาเซียนต่อไป

“ประเทศไทยให้การส่งเสริมได้ ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า มีการกำหนดการใช้รถยนต์ของภาครัฐ ด้านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)มีเงื่อนไขที่ดีสำหรับผู้ลงทุน ปัจจุบันมีผู้ยื่นลงทุนแล้ว 4-5 ราย โครงสร้างพื้นฐานรองรับเช่น สถานีชาร์ต ด้านมาตรฐานรถยนต์ไฟฟ้าก็พร้อมแล้ว ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)”

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญ เป็นผู้ผลิตยานยนต์อันดับ 12 ของโลก แต่จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และการที่ไทยมีโปรดักส์แชมป์เปี้ยนคือ รถกระบะและอีโคคาร์ ซึ่งใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ขณะที่แนวโน้มการผลิตรถยนต์สมัยใหม่ มุ่งสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ผู้ผลิตรถยนต์ไทยจึงต้องปรับตัว ซึ่งสถาบันยานยนต์ไทยได้เตรียมพร้อมด้วยการปรับนโยบายอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยแล้ว เพื่อส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปรับตัวและก้าวทันกระแสการเปลี่ยนแปลง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน