‘สมคิด’จี้คมนาคม ลุยเมกะโปรเจกต์กว่า 16 โครงการรวม 1.3 ล้านล้านบาท ช่วง ต.ค.-ม.ค. ก่อนมีการเลือกตั้ง ให้ทุกหน่วยงานเร่งเครื่องห้ามชะลอหรือดีเลย์เด็ดขาด ย้ำไม่ต้องรอรัฐบาลใหม่ แต่ต้องสะอาดโปร่งใส ‘อาคม’เล็งชงครม. เปิดประมูล 5 แสนล้าน ตามไทม์ไลน์ดันเข้าทุกเดือน

เมื่อวันที่ 8 ต.ค. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มาประชุมติดตามงานที่กระทรวงคมนาคม โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม และเจ้าหน้าที่ระดับสูงร่วมประชุมด้วย
นายสมคิด กล่าวว่า ขอให้ผู้บริหารทุกหน่วยงานเร่งรัดโครงการต่างๆ อย่าให้ชะลอ หรือดีเลย์จากกรอบที่วางไว้ แม้จะเป็นช่วงใกล้เลือกตั้งก็ไม่ควรล่าช้า ไม่ต้องรอรัฐบาลใหม่มาให้นโยบาย โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ต้องดูแลให้ใสสะอาด ซื่อสัตย์ โปร่งใส เช่น มอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการใหม่ ถ้าไม่โปร่งใสไม่ต้องทำ ทุกหน่วยงานต้องสามัคคี อย่าทะเลาะกัน ควรอัพเดทโครงการต่างๆ ให้ประชาชนได้ทราบว่า ปีนี้จะทำอะไร มิฉะนั้นประชาชนจะไม่รู้เลยว่า รัฐบาลทำอะไร

ต้องการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ไปทำแผนร่วมกับกรมเจ้าท่า ก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางเชื่อมลงใต้ ไปยังท่าเรือ เพื่อเชื่อมพื้นที่ในเขตที่อีอีซีคือ รถไฟทางคู่ชุมพร-สุราษฎร์ธานี ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา และให้ขยายต่อไปยังระนองด้วย รวมทั้งเร่งรัดให้ รฟท.จัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อบริหารจัดดารทรัพย์สิน มูลค่ามากถึงแสนล้านบาท โดยเฉพาะที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ส่วนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลขนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ต้องเร่งเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 13.4 กม. และเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มตลอดเส้นทาง บางขุนนนท์-มีนบุรี รวม 1.43 แสนล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีม่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ 101,112 ล้านบาท ให้ได้ภายใน 1-2 เดือนนี้
ส่วนรถไฟฟ้าในภูมิภาค ภูเก็ต เชียงใหม่ และโคราชนั้น ขอให้ รฟม. เร่งรัดเสนอ ครม.ให้ได้ภายในเดือน ก.พ.2562 หรือภายในรัฐบาลชุดนี้ เร็วกว่าแผนเดิมที่ รฟม.ตั้งเป้าหมายที่จะนำเสนอครม.ใน เม.ย.2562 ซึ่งเป็นช่วงรัฐบาลใหม่

นายสมคิดดล่าวต่อว่า ยังได้มอบหมายให้ รฟม.ไปพิจารณาแนวทางการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) ด้วย เพื่อลดภาระงบประมาณของรัฐบาล เพราะมองว่าโครงการของรฟม. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจน่าจะมีผลตอบแทนที่จูงใจกว่าโครงการอื่นๆ ที่เป็นหน่วยราชการเช่นโครงการมอเตอรร์เวย์ของ กรมทางหลวง

สำหรับโครงการทางน้ำ ขอให้ การท่าเรือแห่งประเทศไทยกลับไปจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรือคลองเตย เนื่องจากเป็นท่าเรือที่สำคัญอยู่ในพื้นที่ทำเลทอง โดยอาจจะมีการจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาทำหน้าที่บริหารทรัพย์สินให้ได้ภายในปีนี้ ซึ่งจะต้องมีแผนรองรับที่อยู่อาศัยให้กับชาวบ้านด้วย ส่วนกรมเจ้าท่าจะต้องเร่งพัฒนาเสน้ทางการเดินเรือเชื่อมจากภูเก็ตไปยังเมืองมะริด ในประเทศพม่าเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

นายสมคิดกล่าวต่อถึงงานด้านการบินว่า ได้เร่งรัดให้บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) รีบสรุปแผนทบทวนการจัดซื้อเครื่องบิน 23 ลำ วงเงิน 1แสนล้านโดยจะต้องมีความชัดเจนและจัดทำให้แล้วเสร็จ ภายใน 30 วัน เร็วขึ้นจากเป้าหมายของการบินไทยที่กำหนดไว้ 45 วัน โดยจะต้องนำเสนอแผนจัดซื้อกลับมาภายในเดือนธ.ค.นี้ โดย การบินไทยจะต้องดึงกรรมการจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เข้าไปร่วมเป็นกรรมการในการทบทวนแผนจัดหาเครื่องบินด้วย ไม่ใช้ทำหน้าที่คอมเม้นท์อย่างเดียว โดยภายในเดือน ธ.ค. แผนจัดซื้อจะต้องแล้วเสร็จทั้งหมด

ส่วนสายการบินไทยสมายด์นั้นยอมรับว่าบริหารงานได้ ดังนั้นการบินไทยต้องเร่งพัฒนาจะแพ้ไม่ได้ ส่วนสายการบินนกแอร์ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการบินไทยที่กำลังมีปัญหาเรื่องฐานะนั้น การบินไทยจะต้องตัดสินใจให้ชัดเจนว่าจะบริหารนกแอร์ต่อไปหรือไม่บริการนกแอร์แล้ว ไม่ใช่นโยบาย ครึ่งๆ กลางๆแบบนี้ ส่วนบริษัทการท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) นั้นจะต้องทำงานประสานกับการบินไทยด้วย ขอร้องให้ช่วยการบินไทย ต้องไปจัดหาที่จอดเครื่องบินและบริการอื่นๆ ให้ด้วย ซึ่งอาจจะทำให้กำไร ทอท.หดลงแต่ก็คงไม่มากนัก อาจจะกระทบโบนัสพนักงานหายไปแค่ 1-2 เดือนเท่านั้น

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย กล่าวว่า ขณะนี้การบินไทย และบอร์ด กำลังเร่งทบทวนแผนการจัดซื้อใหม่ โดยจะต้องกลับไปพิจารณาสภานะทางการเงินของการบินไทยล่าสุดด้วยว่าจะใช้วิธีการซื้อหรือเช่าจึงจะเหมาะสม ต้องดูหนี้สิน ต้องดูทุน เนื่องจากขณะนี้งบแสดงฐานะการเงิน ของการบินไทยอ่อนแอมาก ถ้าจะมีการก่อหนี้จำนวนมากอีกก็เป็นไปได้ยาก โดยการบินไทยจะต้องเน้นปรับให้การจัดวางเส้นทางบินที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

“ผมได้หารือกับ ประธานบอร์ดการบินไทยว่า การบินไทยจะต้องมีการปรับการจัดหาเครื่องบิน ให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับฐานะการเงินของการบินไทย เราอาจจะไม่จำเป็นต้องซื้อทั้งหมด อาจใช้วิธีเช่า ระยะสั้น หรือระยะยาว เพราะมองว่าการบินไทยซื้อเครื่องบินมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการทำธุรกิจ ไม่ได้ซื้อเครื่องบินมาสะสม เราไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของฝูงบิน และจะต้องเร่งสรุปแผนให้เสร็จภายใน30 วันและเสนอรัฐบาลได้ภายในสิ้นปี เพราะหากมีการเลือกตั้งแล้วตามธรรมชาติการเลือกตั้งจะต้องมีช่วงสุญญากาศทางการเมืองอีก 3-6 เดือน”
ส่วนบริษัทการท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน)นั้นจะต้องทำงานประสานกับการบินไทยด้วย ขอร้องให้ช่วยการบินไทย ต้องไปจัดหาที่จอดเครื่องบินและบริการอื่นๆ ให้ด้วย ซึ่งอาจจะทำให้กำไร ทอท.หดลงแต่ก็คงไม่มากนัก อาจจะกระทบโบนัสพนักงานหายไปแค่ 1-2 เดือนเท่านั้น

ด้านนายอาคม กล่าวว่า นายสมคิด ได้มอบให้แต่ละหน่วยงานไปพิจารณาข้อกฎหมายว่าสามารถนำโครงการต่างๆ มาเปิดให้ระดมทุนผ่านกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ได้หรือไม่ เช่น โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ พร้อมกันนี้ได้เน้นย้ำการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง เพราะจะมีบทบาทในการขนส่งมากขึ้น ได้มอบให้พัฒนาท่าเทียบเรือชุมพร ท่าเทียบเรือสุราษฎร์ธานี รวมทั้งสร้างความเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือระนองกับท่าเรือในต่างประเทศ เช่น เชื่อมต่อกับเกาะมะริด ประเทศเมียนมา สามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อขยายขีดความสามารถในการขนส่งทางทะเล.

นายอาคมกล่าวว่า เตรียมเสนอโครงการขนาดใหญ่ เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กว่า 16 โครงการ มูลค่า 1.3 ล้านล้านบาท ระหว่างเดือน ต.ต.2561-ม.ค.2562 และเตรียมเปิดประมูลอีก 5 แสนล้านบาท
ทั้งนี้เตรียมเสนอ ครม. ในเดือนต.ค. 5 โครงการ คือท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 วงเงิน 1.1 แสนล้านบาท คาดว่าจะลงนามสัญญาได้ในเดือนมี.ค. 2562, ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน สนามบินอู่ตะเภา วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท คาดว่าบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และแอร์บัส จะลงนามสัญญาได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562, ทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) นครปฐม-ชะอำ วงเงิน 8 หมื่นล้านบาท, ศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม วงเงิน 1 พันล้านบาท และ ศูนย์เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า เชียงของ จ.เชียงราย วงเงิน 2.3 พันล้านบาท

ส่วนเดือนพ.ย. 2561 เตรียมเสนอโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยาย 2โครงการ มูลค่า 2.4 หมื่นล้านบาท คือ สีแดงอ่อนส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
เดือนธ.ค.2561 จำนวน 5 โครงการ รถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี มูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท, ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ มูลค่า 8 พันล้านบาท, ช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม มูลค่า 6 หมื่นล้านบาท, ช่วงขอนแก่น-หนองคาย มูลค่า 2.6 หมื่นล้านบาท,โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ในสนามบินสุวรรณภูมิ 4.2 หมื่นล้านบาทและ โครงการก่อสร้างทางวิ่ง แห่งที่ 3 ในสนามบินสุวรรณภูมิ 2 หมื่นล้านบาท

เดือน ม.ค.2562 จำนวน 5 โครงการ คือ โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย 5.6 หมื่นล้านบาท, ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี มูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาท, ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา มูลค่า 5.7 หมื่นล้านบาท, ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่มูลค่า 6 หมื่นล้านบาท และโครงการจัดซื้อเครื่องบินของ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)วงเงินราว 1 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ยังเตรียมที่จะเปิดประมูลอีก 5 โครงการ ได้แก่ ระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (Missing Link) สีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กิโลเมตร วงเงิน 4.4 หมื่นล้านบาท คาดว่าประกวดราคาได้ในเดือน ม.ค.-มี.ค.2562 สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) หรือรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ วงเงิน 1 แสนล้านบาท คาดว่าประกวดราคาเดือนธ.ค.2561

รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน พร้อมพัฒนาที่ดิน 2.2 แสนล้านบาท จะประกวดราคาในเดือนพ.ย.-ธ.ค.2561 และลงนามสัญญาในเดือนก.พ.2562 รถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงินรวม 8.5 หมื่นล้านบาท ประกวดราคาเดือน มี.ค.2562 และ ทางพิเศษช พระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ วงเงิน 3.1 หมื่นล้านบาท ประกวดราคา พ.ย.2561-ก.พ.2562
และจะเร่งเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร และการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มตลอดเส้นทาง ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี วงเงินรวม 1.43 แสนล้านบาท ให้คณะกรรมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการพีพีพี) ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน