นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยถึงผลประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ กพท. ปรับกฎระเบียบ เพื่อเปิดโอกาสให้กองทุนที่จัดตั้งตามกฎหมายของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถเข้าร่วมเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทสายการบินได้ เบื้องต้นจะออกเป็นประกาศกระทรวงคมนาคมเพิ่มเติม ทั้งนี้ เชื่อว่าการเปิดให้กองทุนเข้ามาถือหุ้นจะช่วยเสริมฐานะทางการเงินให้กับสายการบิน ช่วยลดความเสี่ยงปัญหาด้านสภาพคล่องได้ หากเกิดปัญหา เพราะสามารถเปิดระดมทุนได้

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีกองทุนอยู่เยอะมาก ก็แล้วแต่ว่ากองทุนไหนจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม แต่เบื้องต้นกองทุนที่จะเข้าร่วมในบริษัทสายการบินได้นั้น ต้องเป็นกองทุนไทย และผู้บริหารกองทุนต้องเป็นคนไทยเท่านั้น ซึ่งมติที่ประชุมครั้งนี้ถือเป็นการปลดล็อกกฎหมายให้กองทุนต่างๆ เข้ามาถือหุ้นในบริษัทสายการบินได้ง่ายขึ้น โดยหลังจากนี้ กพท. จะกลับไปศึกษาการจัดทำเงื่อนไขรายละเอียดของหน่วยงานต่างๆ ที่เปิดให้กองทุนเข้ามาร่วมเป็นผู้ถือหุ้นในธุรกิจอื่นๆ เช่น ประกันภัย และโทรคมนาคม เป็นต้น เพื่อนำกลับมาเสนอที่ประชุม กบร. พิจารณาอีกครั้งในการประชุมเดือนพ.ย. 2561

นายจุฬา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบนโยบายเกี่ยวกับนิรภัยการบินแห่งชาติ ซึ่งจะมีการจัดทำให้สอดคล้องกับแนวทางขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ให้มากขึ้น เพื่อเป็นแผนแม่บท (Master Plan) ที่จะดูแลเรื่องการจัดการความปลอดภัยทางด้านการบินทั้งหมดของประเทศ เช่น สายการบิน ท่าอากาศยาน บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) และศูนย์ซ่อมอากาศยาน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กพท. มีแผนดูแลเรื่องความปลอดภัยอยู่บ้างแล้ว แต่เป็นฉบับย่อยๆ ซึ่งการจัดทำ Master Plan ครั้งนี้จะเป็นฉบับใหญ่เหมือนเป็นรัฐธรรมนูญเรื่องความปลอดภัยด้านการบินทั้งหมด ซึ่งในปี 2565 ไอเคโอ จะบังคับให้ทุกประเทศต้องจัดทำ Master Plan ดังกล่าวเช่นกัน โดยเวลานี้ประเทศใหญ่ๆ มีการจัดทำบ้างแล้ว ดังนั้น กพท. จะเร่งดำเนินการ โดยจะเสนอรายละเอียดของแผนทั้งหมดในการประชุม กบร. เดือนพ.ย.นี้ และคาดว่าจะสามารถประกาศใช้แผนดังกล่าว และนำไปปฏิบัติใช้ได้ภายในปลายปีนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน