นายยงยุทธ จันทโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ พพ. ได้เร่งขยายผลการดำเนินงานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนให้เกิดการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในกระบวนการผลิต สำหรับผลิตภัณฑ์ของชุมชนในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะการส่งเสริมผ่านโครงการสนับสนุนการลงทุนติดตั้งใช้งานระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ (พาราโบลาโดม) สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน”

ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนหลายจังหวัดได้นำไปดำเนินการเพื่อการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และเป็นที่ยอมรับของตลาดในและต่างประเทศ ซึ่งแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน ด้วยแนวทางโครงการไทยนิยมยั่งยืนตามเป้าหมายของกระทรวงพลังงานครอบคลุม 76 จังหวัด 878 อำเภอ 7,663 ตำบล รวมถึง 50 เขตในกรุงเทพมหานคร รวมเกือบ 83,151 หมู่บ้านทั่วประเทศ

โดย พพ. ได้ติดตามผลการดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรบ้านโคกป่าฝาง หมู่ที่ 3 ตำบลปะโค อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย เป็นชุมชนเกษตรกร ผู้เลี้ยงปลาน้ำจืด ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากพพ. ในการทำระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ หรือพาราโบลาโดม ที่สามารถประหยัดต้นทุนด้านพลังงานในการอบแห้ง ปลา แปรรูป จากเดิมใช้การตากแห้งต้องใช้ระยะเวลานานประมาณ 3 วัน และไม่ถูกสุขลักษณะ ขณะที่การใช้พาราโบลาโดม ทำให้เวลาการอบแห้งเหลือเพียง 6-8 ชั่วโมง ถูกหลักอนามัย ทั้งยังมีรสชาติดี ทำให้ให้สามารถผลิตและจำหน่าย ได้ทั้งปริมาณและราคาที่สูงอีกหลายเท่าตัว

“วิสาหกิจชุมชนเกษตรบ้านโคกป่าฝาง ส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจบ่อเลี้ยงปลากรอบแก้ว กว่า 100 แห่ง ที่ผ่านมาประสบปัญหาราคาปลาสดตกต่ำ ทำให้เกษตรกรรวมตัวเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการทำผลิตภัณฑ์ปลาในหลากหลายรูปแบบ เช่น ปลากรอบแก้ว ปลาอบรมควัน กุนเชียงปลา ปลาแผ่นอบแห้ง เป็นต้น โดยการนำปลาพันธ์ต่างๆ ที่เลี้ยงอยู่ในชุมชน ทั้งปลายี่สก ปลาจีน ปลานวลจันทร์ มาสู่กระบวนการแปรรูป และส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น เกาหลี และฝรั่งเศส”นายยงยุทธ กล่าว

นายพงศภัค อุณารักษ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านโคกป่าฝาง กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนบ้านโคกป่าฝาง ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จากพพ. ผ่านโครงการสนับสนุนการลงทุนติดตั้งใช้งานระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ของ พพ. มาดำเนินการก่อสร้างระบบการอบแห้งพาลาโบลาโดม ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ มาทำความร้อนเพื่ออบปลาแปรรูป พร้อมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อจัดจำหน่ายในจังหวัด และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงการนำส่งออกไปยังต่างประเทศ ส่งผลให้รายได้ของชุมชนเพิ่มสูงขึ้น จากเดิมที่เน้นจำหน่ายเพียง ปลาสด ซึ่งมีราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน