ทอท.เล็งตัดพื้นที่เทอร์มินอล 2 สนามบินสุวรรณภูมิ ออกจากประมูลดิวตี้ฟรี เนื่องจากยังมีขั้นตอนอีกมาก ขีดเส้นจะนำทีโออาร์ประมูลดิวตี้ฟรี เข้าบอร์ดไม่เกินเดือน ม.ค.62 ยันเดินหน้าตามเป้า ไม่หวั่นเจอร้องเรียน ชี้ผู้ชนะประมูล คือผู้ที่การันตีรายได้ขั้นต่ำสูงสุดให้กับ ทอท.

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ทอท. ได้ตั้งคณะกรรมการร่างเงื่อนไขการประมูล (TOR) พื้นที่เชิงพาณิชย์และพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษี (Duty Free) ในสนามบินสุวรรณภูมิ คาดว่าจะเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. พิจารณาเห็นชอบได้ในเดือนธันวาคม 2561-มกราคม 2562 อย่างแน่นอน
เพราะขณะนี้กรอบเวลาค่อนข้างบีบ ทอท. ต้องเร่งประมูลและเผื่อระยะเวลาให้เอกชนรายใหม่ลงทุนประมาณ 1 ปี 6 เดือน ก่อนสัญญาพื้นที่เชิงพาณิชย์และพื้นที่ดิวตี้ฟรีกับกลุ่มคิง เพาเวอร์จะหมดลงในวันที่ 27 เดือนกันยายน 2563

ทั้งนี้ เชื่อว่าประมูลและเปิดให้บริการดิวตี้ฟรีรอบใหม่จะเดินหน้าได้ตามเป้าหมาย แม้จะมีเรื่องร้องเรียนระหว่างการประมูล เพราะ ทอท. มีกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและเผื่อระยะเวลาในการชี้แจงคำถามของเอกชนไว้แล้ว ยกเว้นจะเกิดกรณีฟ้องร้องหรือมีหน่วยงานสั่งให้ชะลอโครงการไว้ชั่วคราว

นอกจากนี้ ทอท. มีแนวโน้มจะตัดพื้นที่อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ในสนามบินสุวรรณภูมิออกจากการประมูลดิวตี้ฟรีครั้งนี้ เนื่องจากโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ยังมีขั้นตอนและตัวแปรอีกมากมาย
ปัจจุบันอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ยังอยู่ในขั้นตอนการออกแบบและรอให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาว่าจะลงนามสัญญากับผู้ชนะการออกแบบได้หรือไม่ จากนั้นก็ต้องประมูลก่อสร้างและสรุปว่าสายการบินไทยจะใช้อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 หรือไม่ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาเจรจากับสายการบินไทยอีกหลายเดือน

ขณะนี้จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ การประมูลดิวตี้ฟรีในสนามบินสุวรรณภูมิจะครอบคลุมพื้นที่แค่ 2 อาคาร คือ อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 1 ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน และอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (satellite) ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง แต่ขอยืนยันว่า การตัดอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ออกจากการประมูลดิวตี้ฟรี จะไม่ทำให้ราคาประมูลต่ำลง เนื่องจากพื้นที่มีขนาดลดลง น่าจะทำให้การแข่งขันสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม นายนิตินัยยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะแบ่งสัญญาการประมูลออกเป็นกี่ฉบับและแบ่งตามเกณฑ์ใด เพราะต้องพิจารณาผลการศึกษาก่อน แต่ส่วนตัวเห็นว่าการแบ่งสัญญาออกเป็นหลายฉบับ จะทำให้บริหารจัดการยาก

ส่วน ทอท. จะนำพื้นที่ของสนามบินอีก 3 แห่ง ได้แก่ หาดใหญ่, เชียงใหม่ และภูเก็ต มารวมในการประมูลดิวตี้ฟรีรอบนี้ด้วยหรือไม่นั้น ก็ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะต้องนำยอดขายดิวตี้ฟรีในสนามบินอื่นๆ มาพิจารณาก่อน แต่ก็ยอมรับว่าค่อนข้างหนักใจ เพราะสนามบินเชียงใหม่และหาดใหญ่มียอดขายน้อยมาก จึงทำให้ยากต่อการแบ่งสัญญา

นายนิตินัย กล่าวต่อว่า สำหรับเกณฑ์การประมูลดิวตี้ฟรีรอบนี้จะพิจารณาข้อเสนอด้านราคาเป็นหลัก โดยเอกชนที่ชนะการประมูล คือผู้ที่เสนอเงินการันตีรายได้ขั้นต่ำในอัตราสูงสุดให้กับ ทอท. อย่างเช่นกลุ่มคิง เพาเวอร์ ที่ต้องจ่ายเงินการันตีรายได้ขั้นต่ำให้ ทอท. ทุกปี ไม่ว่าผลประกอบการเป็นอย่างไร และเมื่อกลุ่ม คิงเพาเวอร์ มียอดขายมากขึ้นก็ต้องแบ่งรายได้เป็นเปอร์เซ็นต์ให้กับ ทอท. ด้วย ซึ่งธุรกิจดิวตี้ฟรีในประเทศอื่นก็มีลักษณะเดียวกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วง 2-3 เดือนก่อนหน้านี้ ทอท. ระบุว่าต้องการรอข้อสรุปเรื่องโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ในสุวรรณภูมิ ทั้งด้านการออกแบบและการเจรจากับการบินไทย เพื่อนำพื้นที่อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ไปประมูลดิวตี้ฟรีรวมกับพื้นที่อื่นๆ แต่ถ้าหากโครงการนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปก็จะไม่นำออกประมูล เพื่อให้การประมูลดิวตี้ฟรีเดินหน้าต่อไปและสามารถหาตัวผู้ประกอบการได้ทันเวลา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน