นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าบริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดงานสัมมนาหัวข้อ “Future Energy Moving Together : ก้าวไปกับอนาคตพลังงาน” ซึ่งร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดขึ้น ว่า ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกมีความผันผวนสูงมากอยู่ที่ระดับ 10-20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐ และกองทุนเก็งกำไรที่มีการซื้อขายสัญญาน้ำมัน 6-7 แสนสัญญา คิดเป็นปริมาณน้ำมันดิบประมาณ 600-700 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่การใช้น้ำมันทั่วโลกอยู่ที่ 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน

“ยอมรับว่าในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมากองทุนเก็งกำไรมีการเทขายสัญญาน้ำมัน 3-4 แสนสัญญา ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกแกว่งตัวผันผวนรุนแรง ขณะที่ประเทศไทยมีการใช้น้ำมันอยู่ที่ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็น 1% ของความต้องการตลาดโลก ทำให้ไทยไม่มีอำนาจในการกำหนดราคาไม่ว่าราคาจะผันผวนไปในทิศทางใด ดังนั้นจากนี้ปตท. จึงจำเป็นต้องปรับแผนระยะกลางในการบริหารธุรกิจน้ำมัน โดยนำระบบเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาบริหารจัดการ และในระยะยาวต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจปิโตรเคมีจากฐานของน้ำมัน และนำน้ำมันเตาที่ยังเหลือมาผลิตนาฟทา น้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น ตามแผนบริหารจัดการด้านความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งจะเสนอให้บอร์ดปตท.พิจารณาภายในเดือนธ.ค.นี้”

นอกจากนี้ จะเสนอแผนระยะยาว อาทิ การก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เส้นที่ 5 มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2564 เพื่อใช้เป็นคลังสำรองก๊าซธรรมชาติจากฝั่งตะวันออกไปสู่ฝั่งตะวันตกของไทย ภายใต้แผนลงทุน 5 ปีให้บอร์ดพิจารณาเช่นกันในคราวเดียวกัน ซึ่งจะปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม กลไกราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ่ของไทยค่อนข้างมีเสถียรภาพ ไม่มีการปรับขึ้นสูงสุดหรือลดลงต่ำสุดผันผวนตามราคาน้ำมันดิบตลาดโลก เนื่องจากขึ้นอยู่กับราคาหน้าโรงกลั่นและการบวกภาษีในประเทศ โดยอ้างอิงจากราคาน้ำมันจากตลาดสิงคโปร์

นายชาญศิลป์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปีหน้ายังคงต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากความกังวลเรื่องผลกระทบของสงครามการค้าของสหรัฐ-จีน และประเทศคู่ค้าทั่วโลกอาจกดดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลก รวมถึงความต้องการใช้น้ำมันด้วย ประกอบกับกำลังการผลิตน้ำมันดิบตลาดโลกมีแนวโน้มตึงตัวจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจกลุ่มประเทศผู้ผลิต ทำให้ภาวะราคาน้ำมันมีความเปราะบาง โดยประเมินทิศทางราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปีหน้าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงไม่ต่างจากปีนี้ แต่จะเห็นการแกว่งตัวแรงขึ้น จึงคาดราคาน้ำมันอ้างอิงตลาดดูไบปีหน้าเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ทั้งนี้ ในอนาคตความต้องการใช้น้ำมันจะมีบทบาทน้อยลงเพียงไม่ถึง 1% จากปัจจุบันที่มีอัตราการขยายตัว 1.4% เนื่องจากพฤติกรรมการใช้พลังงานของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป เช่น การใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันในรถยนต์ส่วนบุคคลมีแนวโน้มลดลง แต่อาจมีความต้องการใช้น้ำมันในภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก สวนทางกับอัตราการเติบโตของพลังงานทางเลือกจะเพิ่มขึ้นมาทดแทนอย่างมีนัยสำคัญ

ด้านนายอธิคม เติบสิริ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม กล่าวว่า มองปี 2562 อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 3.7% ส่งผลให้มีความต้องการใช้น้ำมันดิบขยายตัวอยู่ที่ 1.1-1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งในระยะยาวต้องติดตามนโยบายพลังงานสีเขียวและเทคโนโลยีดิจิตอลที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมพลังงาน ห่วงโซ่การผลิตที่อาจส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้ความต้องการใช้พลังงานเปลี่ยนรูปแบบไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน