พาณิชย์ เร่งรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนถึงผลประโยชน์และผลกระทบต่อการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ของไทย ก่อนตัดสินใจร่วมแจมแน่ในรัฐบาลปัจจุบัน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ได้จัดการประชุมคณะทำงานเตรียมการพิจารณาเข้าร่วมข้อตกลงความครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนการค้าภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก หรือ CPTPP ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 30 หน่วยงาน ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งตนเป็นประธานที่ประชุม
โดยรับทราบสถานะล่าสุดของความตกลง CPTPP ว่าความตกลงจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 30 ธ.ค.2561 ซึ่งปัจจุบันมีประเทศสมาชิก CPTPP ที่ให้สัตยาบันความตกลงฯ แล้วทั้งสิ้น 7 ประเทศ ได้แก่ เม็กซิโก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย และเวียดนาม

สำหรับการเตรียมการของไทย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้เดินสายจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในทั่วทุกภูมิภาค ได้มีการประเมินเบื้องต้นถึงผลประโยชน์และผลกระทบต่อการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ของไทยจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และได้ร่วมกันให้ความเห็นถึงประเด็นข้อกังวล
ตลอดจนการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่า หากไทยตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ในอนาคตก็จะต้องเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ โดยรัฐบาลชุดนี้จะตัดสินใจว่า จะเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP โดยจะเสนอต่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)

ทั้งนี้ CPTPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในหลายมิติ ทั้งเรื่องการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายนักธุรกิจชั่วคราว การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้า อาทิ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน แรงงาน และสิ่งแวดล้อม
มีสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ล่าสุด มีประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เพิ่มเติม เช่น อินโดนีเซีย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (จร.) กล่าวว่า ขณะนี้กรมอยู่ระหว่างการเตรียมจัดตั้งกองทุน CPTPP เพื่อรองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกในข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งจะทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ยอมรับว่า การเข้าร่วมดังกล่าวอาจมีผลกระทบด้านลบต่อสินค้าเกษตรของไทยบ้าง เช่น มันฝรั่ง ชา กาแฟ

แต่โดยภาพรวมประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการร่วมในข้อตกลงดังกล่าวเช่น กับประเทศแคนาดา ไทยก็จะส่งสินค้าไปได้มากขึ้น เช่น น้ำผักผลไม้ ผลไม้ประป๋อง ข้าว กุ้งแปรรูป ยาง ปิโตรเคมี เม็กซิโก ส่งสินค้าเกษตร สับปะรดกระป๋อง มากขึ้น เป็นต้น ส่วนญี่ปุ่นแม้จะมี FTA แต่ก็มีการลดภาษีร้อยละ 88 ของสินค้าทั้งหมด ซึ่งการเข้าร่วม จะทำให้เรามีโอกาสเจรจาได้ เช่น ไก่ปรุงแต่ง ผักผลไม้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน